logo

ณัฏฐ์ โดย Nutt Krait

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วัสดุกรองชนิดต่างๆสำหรับตู้ปลาสวยงาม


วัสดุกรองชนิดต่างๆ กับตู้ปลาสวยงาม

การเลือกและทำความเข้าใจกับวัสดุกรองชนิดต่างๆสำหรับตู้ปลา
เมื่อมีการพูดถึงระบบกรอง ระบบบำบัดน้ำสำหรับตู้เลี้ยงปลา ไม่ว่าจะใหญ่ จะเล็กขนาดไหนก็ตาม สิ่งที่มักจะถูกพูดถึงควบคู่กัน นั่นก็คือ วัสดุกรอง วัสดุกรองสามารถแบ่งออกได้ตาม คุณสมบัติการกรองของตัวมันเอง เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ วัสดุกรองทางกายภาพ , ทางเคมี และทางชีวภาพ ( ดูรายละเอียดได้จาก บทความเรื่อง ระบบกรอง กับตู้ปลาสวยงาม ) ซึ่งวัสดุกรองแต่ละชนิดนั้น อาจจะมีคุณสมบัติในการกรองได้เพียงประเภทเดียว หรือมากกว่า หนึ่งประเภท ก็ได้ และถ้าจะพูดกันไป แล้วนั้น วัสดุที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุกรอง ได้นั้น จะมีหลากหลายชนิดมาก มีทั้งเป็นวัสดุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อย่างเช่น หินภูเขาไฟ, ปะการัง, เปลือกหอย หรือ เป็นวัสดุที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุกรองน้ำโดยเฉพาะ เช่น ไบโอบอล, เซรามิค ริงค์ หรือจะเป็นวัสดุที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นวัสดุกรอง แต่มีการนำมาใช้เป็นวัสดุกรอง เช่น อวนจับปลา หรือ ฟองน้ำบางชนิด เป็นต้น ถ้าเราจะนับจำนวนกันจริงๆ แล้ว ก็คงมีกันหลายสิบชนิด ซึ่งถ้าจะต้องมาอธิบายกันทั้งหมดแล้วคงต้องเขียนหนังสือกันเป็นเล่มๆ และตัวผมเองคงต้องใช้เวลาหาข้อมูล และเขียนกันนานโขเลยทีเดียว แต่ว่า คงไม่ต้องถึงขนาดนั้นเลยนะครับ ถึงตอนนั้น คิดว่าคงไม่มีใครมานั่งรออ่านบทความจากผมแล้วละครับ 55555 ชักแม่น้ำ มาคุยกันหลายสายแล้ว ก่อนที่จะออกทะเลไปไกลกว่านี้ ขอเข้าเรื่องเลยดีกว่านะครับ เอาเป็นว่า เรื่องวัสดุกรองที่จะขอพูดถึงในครั้งนี้ ผมจะขอยกเอา วัสดุกรองที่เป็นที่นิยมใช้กับ ตู้ปลาอโรวาน่า และ วัสดุกรองที่มักจะมีการเข้าใจผิด หรือถูกเอาไปใช้แบบ ไม่ถูกต้องกันนะครับ เผื่อว่าใครกำลังอยากได้วัสดุกรองสำหรับ ตู้ปลาใบใหม่อยู่ จะได้เอาข้อมูลไปเป็นแนวทางได้ วัสดุกรอง ที่จะขอพูดถึงก็ได้แก่ หินพัมมีส , หินซีโอไลท์ , ปะการัง, เซรามิค-ริงค์, ไบโอบอล, แอคติเวท คาร์บอน และใยกรองต่างๆ ครับ เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ขอเริ่มเลยนะครับ
หินพัมมิส (Pumice stone) หินพัมมีส หรือบางคนรู้จักกันในชื่อ หินพูไมส์ เป็นหินภูเขาไฟชนิดหนึ่ง มีซิลิก้าเป็นองค์ประกอบหลัก หินพัมมิสเกิดจากการหลอมละลาย ของ ลาวา และ แม๊กม่า แล้วจับตัวแข็งโดยฉับพลัน กับ ชั้นอากาศ และ ฟองอากาศ (ในกรณีไหลลงน้ำ) ขณะที่ ลาวา กำลังร้อนระอุ เมื่อเจอเข้ากับความเย็น จากอากาศ และน้ำ จึงจับตัวแข็งเป็นก้อน ภายในเนื้อหินเกิดโพลงอากาศ และ รูพรุนจำนวนมหาศาล บวกกับน้ำหนักที่เบามากๆ จึงทำให้ หินพัมมีสมีคุณสมบัติที่สามารถลอยน้ำได้ (ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วไม่ต้องหาผ้าเจ็ดสี เจ็ดศอก หรือธูปเทียน ไปบูชา ขอหวยมันนะครับ ^__^ ) รูปร่าง ลักษณะ และคุณสมบัติ : หินพัมมีส มีทั้งที่เป็นสีขาว สีเทา และสีน้ำตาล เป็นหินที่มีลักษณะเป็นรูพรุน มีน้ำหนักเบามากๆ เนื่องจากอากาศที่อยู่ในรูพรุนของหินพัมมีสนี่เอง จึงทำให้ หินชนิดนี้สามารถลอยน้ำได้ ข้อมูลบางแหล่ง บอกไว้ว่าตัวของพัมมีสเองมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ คือ มี pH อยู่ที่ 5-6 แต่ ไม่มีคุณสมบัติด้าน pH Buffer แต่เอาเข้าจริงๆ ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวผมเอง และอีกหลายๆ ท่าน พบว่าหินพัมมีสบางครั้งพบว่าทำให้น้ำมี pH สูงขึ้นจนถึง 8 หรือ 8.5 ได้ แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นจนบางครั้ง จะกลับสู่สภาพปกติคือไม่เป็น pH Buffer ในที่สุด จุดนี้เข้าใจว่าอาจเป็นไปตามสภาพแวดล้อมในแหล่งที่นำหินมาใช้ หินพัมมีสที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป จะถูกแบ่งเป็น 6 เบอร์ด้วยกัน คือ เบอร์ 01, เบอร์ 02, เบอร์ 03, เบอร์ 3S ต้นไม้, เบอร์ 3S บ่อกรอง, และ 3S Jumbo โดยเบอร์ที่นิยมนำมาใช้กับระบบกรองมากที่สุดคือ 3S บ่อกรอง ประเภทของวัสดุกรอง : หลักๆ เป็นวัสดุกรองชีวภาพ แต่หินพัมมีสขนาดเล็ก บางทีก็มีคนนำไปใช้เป็นวัสดุกรองกายภาพด้วยเช่นกัน อายุการใช้งาน : หินพัมมิส สามารถใช้งานได้จนย่อยสลาย แตกหักไปเอง การดูแล บำรุงรักษา: เนื่องจากหินพัมมีส มีรูพรุนจำนวนมาก และรูพรุนเหล่านี้เองเป็นที่ๆ ฝุ่นผง ต่างๆ เข้าไปอยู่จำนวนมาก ฉะนั้น ก่อนนำไปใช้งาน ควรล้าง ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ รอบ หรือ บางคนนิยมล่างด้วยน้ำ ผสม ด่างทับทิม (ผสมแบบเจือจาง ให้น้ำเป็นสีชมพูก็พอนะครับ) เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้ว ล้างออกด้วยน้ำสะอาด หลายๆ รอบอีกที จากนั้น จึงนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงนำขึ้นมาใช้งาน และให้นำขึ้นมาล้าง ทำความสะอาดทุกครั้งเมื่อทำการล้างทำความสะอาดระบบกรอง
ลักษณะของหินพัมมีส
ข้อดี : มีน้ำหนักเบาเพียง 360 กรัม/ลิตร, มีรูพรุนสูงมาก (ซึ่งเป็นที่อยู่ ของแบคทีเรีย ที่ช่วยในการย่อยสลาย ขอเสียในตู้ปลา ได้อย่างดี), ราคาถูก (กิโลละประมาณ 30 บาท), ไม่ทำปฏิกิริยา กับ สารเคมีใดๆ ข้อเสีย : หินพัมมีส มีซิลิก้าซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดตะใคร่สีน้ำตาลได้ง่าย (แต่จากที่ใช้อยู่ ยังไม่เคยพบปัญหานี้นะครับ), เป็นหินที่มีความเปราะมากครับ เมื่อเสียดสีกันมากๆ จะทำให้ แตกเป็นฝุ่นเล็กๆ ได้ง่าย และตัวมันเองสามารถเก็บฝุ่นผงได้ดี การล้าง ทำความสะอาดเอาฝุ่นออกให้หมดจึงยากมาก ข้อแนะนำในการใช้กับตู้ปลาอโรวาน่า : นิยมใช้กันมากๆ กับระบบกรองทุกแบบ เพราะราคาถูก น้ำหนักเบา และเป็นที่อยู่ที่ดีให้แก่แบคทีเรีย ก่อนนำไปใช้งาน ควรล้าง ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ รอบ จากนั้น จึงนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงนำขึ้นมาใช้งานครับ ควรแช่หินจนหินจมน้ำ (น้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศในรูพรุน) เพื่อให้แบคทีเรีย เข้าไปอยู่ในรูพรุนของหินพัมมีสได้ง่ายขึ้น
หินซีโอไลท์ (Zeolite) ซีโอไลท์ คือหินภูเขาไฟอีกชนิดหนึ่งหนึ่ง มีซิลิก้าเป็นองค์ประกอบหลัก ซิโอไลท์เกิดขึ้นจาก "ลาวา" หลอมละลาย ไหลลงไปในน้ำ แล้วไปจับ ตัวแข็ง ใต้ท้องน้ำ ซึ่งระหว่างกระบวนการแข็งตัวนั้น ก็ได้ ดูดซับ แร่ธาตุ จำนวนมากเข้าไปด้วย ทั้ง อิฐ หิน ดิน ทราย กรวด ขี้เถ้า หลอมรวม กันหมด แล้ว จับตัวแข็งเป็นชั้นหิน แต่ ก็ยังคง มีรูพรุน ที่เกิดขึ้นจากฟองอากาศ เหมือนกันกับ หินพัมมิส แต่ด้วยน้ำหนักที่มากกว่าพัมมีสถึงสองเท่า จึงทำให้ ซีโอไลท์ไม่สามารถลอยน้ำได้ รูปร่าง ลักษณะ และคุณสมบัติ : ซีโอไลท์ จะมีทั้งแบบสีเทา (พบได้ในประเทศไทย) และสีอมเขียว โดย ซีโอไลท์ที่มีสีอมเขียวจะนิยมใช้ในระบบกรองมากกว่า มีคุณภาพ และประสิทธิ์ภาพดีกว่า แบบสีเทา แต่ก็แพงกว่าด้วย ซีโอไลท์จะทำหน้าที่เข้าจับ ก๊าซไฮโดรจนซัลไฟด์, คลอรีน, ยาปฏิชีวนะ และข้อมูลบางแหล่งอธิบายว่า ซีโอไลท์ สามารถดักจับ ก๊าซแอมโมเนีย, ไนไตรท์ และไนเตรท ได้ด้วย
ลักษณะของหินซีโอไลท์
ประเภทของวัสดุกรอง : เป็นวัสดุกรองทางเคมี อายุการใช้งาน : อายุการใช้งานในระบบกรอง ประมาณ 6-8 เดือน การดูแล บำรุงรักษา: การใช้ ซีโอไลท์ ต้องคอยหมั่นเอาออกมาล้าง บ่อยๆ โดยใช้ เกลือเข้มข้น (เกลือเข้มข้น จะทำให้ ซีโอไลท์คลายสารพิษบางส่วนออกมา) ล้างหลายๆ รอบ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง และ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่อย่างไรซะ ก็ควรทำการเปลี่ยนใหม่ เมื่อถึงอายุการใช้งานครับ ข้อดี : หินซีโอไลท์ มีรูพรุน มหาศาล (ซึ่งเป็นที่อยู่ ของแบคทีเรีย ที่ช่วยในการย่อยสลาย ขอเสียในตู้ปลา ได้อย่างดี), ดูดซับ ไอออนต่างๆ แม้ แต่ คลอรีน หรือ ยาปฏิชีวนะ จะว่าไปแล้ว มันดูดซับ และ ฟอก ได้ดี กว่า พัมมิส ซะอีกครับ ข้อเสีย : ซีโอไลท์ มีอายุการใช้งานของมันครับ เมื่อใช้ไปจนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัว (ดูดซับของเสียจนอิ่มตัว) ซีโอไลท์ก็จะ คายสารพิษ ของเสีย ที่ดูดซับเอาไว้ กลับสู่ ตู้ปลาของเรา ทำให้ปลาเราป่วย หรือ ตายได้, ทำปฏิกิริยา กับน้ำเกลือเข้มข้น ซึ่งจะทำให้ ซีโอไลท์คลายของเสียออกมาเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว, สำหรับระบบกรองที่ใช้ ซีโอไลท์เป็นหลัก คงต้องเซทระบบกรองชีวภาพใหม่ทุกครั้ง ที่เราต้องเปลี่ยนซีโอไลท์ใหม่ ข้อแนะนำในการใช้กับตู้ปลาอโรวาน่า : แม้ว่าซีโอไลท์จะมีข้อดีมากกว่าพัมมีส แต่กลับไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้กับตู้อโรว่าน่าครับ (โดยส่วนตัวแล้วอยากบอกว่า ไม่ควรใช้ กับตู้ปลาอโรวาน่า เลยจะดีกว่า) เนื่องจาก ปัญหาเรื่องการคลายของเสีย เมื่อทำปฏิกิริยา กับน้ำเกลือเข้มข้น และเมื่อถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่าส่วนใหญ่จะมองว่า ไม่คุ้มที่จะเสี่ยงครับ แต่ปัจจุบัน มีผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่า ไม่น้อย ที่ซื้อหินซีโอไลท์ เพื่อนำมาใส่ในระบบกรอง เพราะเข้าใจผิดคิดว่า เป็นหินพัมมีส (ที่หน้าซองจะเขียนว่า หินภูเขาไฟ เหมือนกัน) ฉะนั้น ตอนเลือกซื้อ หินภูเขาไฟ ควรเลือกซื้อให้ดีๆ ด้วยนะครับ
ปะการัง ( reef or coral reef ) ปะการัง หรือปะการังแข็ง ก็คือ สิ่งมีชีวิตที่มาจากทะเลครับ(แต่ไม่รู้จะเรียกว่า พืชหรือสัตว์ดี) เนื้อของปะการังมีเนื้อที่เป็นรูพรุนจำนวนมาก เมื่อมันตายไป จึงมีคนนำเอามาใช้เป็นวัสดุกรอง อย่างแพร่หลาย แม้ว่าปัจจุบันนี้ การมีปะการรังในครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย และเป็นการทำลายธรรมชาติ ครับ รูปร่าง ลักษณะ และคุณสมบัติ : เนื้อของปะการังประกอบไปด้วย แคลเซียม และ หินปูน ซึ่งทำให้ปะการังมี่คุณสมบัติเป็น pH Buffer มีฤทธิ์ทำให้น้ำที่ใช้ปะการังเป็นวัสดุกรอง มีความเป็นด่างอย่างอ่อน (pH ประมาณ 8-9) ปะการังมีลักษณะรูปร่างหลากหลาย แต่ส่วนมากจะหน้าตาคล้ายๆ กิ่งก้าน ต้นไม้ มีเนื้อแข็ง สีขาว หรือสีขาวอมเหลือง หรือสีขาวอมน้ำตาล ปะการัง ที่มีขายกันทั่วไปจะแบ่งขนาดเป็นเบอร์ 0, 1, 2, 3, 4 และ 5 เบอร์ 0 จะเล็กสุด และเบอร์ 5 ใหญ่สุด และที่นิยมนำมาใช้ในระบบกรองมากที่สุด คือเบอร์ 3 และ 4 
ลักษณะของปะการัง
ประเภทของวัสดุกรอง : เป็นวัสดุกรองทางชีวภาพ อายุการใช้งาน : ปะการัง สามารถใช้งานได้จนย่อยสลาย แตกหักไปเอง แต่เนื่องด้วย คุณสมบัติที่เป็น pH Buffer ของตัวมันเอง ถ้าต้องไปอยู่ในน้ำที่มีค่าเป็นกรด หรือ น้ำที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนน้ำ อย่างเพียงพอจะทำให้เกิดปัญหา การกร่อนตัวเร็วกว่า วัสดุกรองชนิดอื่นมาก การดูแล บำรุงรักษา: เนื่องจากปะการัง มีรูพรุนจำนวนมาก และรูพรุนเหล่านี้เองเป็นที่ๆ ฝุ่นผง ต่างๆ เข้าไปอยู่จำนวนมาก ฉะนั้น ก่อนนำไปใช้งาน ควรล้าง ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ รอบ หรือ บางคนนิยมล้างด้วยน้ำ ผสม ด่างทับทิม เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้ว ล้างออกด้วยน้ำสะอาด หลายๆ รอบอีกที จากนั้น จึงนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วจึงนำขึ้นมาใช้งาน, ในระหว่างการใช้งานต้องล้าง และดูดเอาฝุ่นผงปะการัง ที่เกิดจากการกร่อนตัว ของปะการัง และผงฝุ่น ตะกอนต่างๆ ออกจากระบบกรอง อย่างสม่ำเสมอ ข้อดี : มีรูพรุนสูงมาก (ซึ่งเป็นที่อยู่ ของแบคทีเรีย ที่ช่วยในการย่อยสลาย ขอเสียในตู้ปลา ได้อย่างดี), รักษาสภาพ pH ของน้ำได้คงที่ ข้อเสีย : อย่างแรกเลยคือปัจจุบันนี้ การมีปะการรังในครอบครองถือว่าผิดกฎหมายครับ และการใช้หินปะการังถือว่าเป็นการสงเสริมให้มีการทำลายธรรมชาติอีกด้วย, มีน้ำหนักมาก, ราคาแพง และมีแนวโน้มจะแพงขึ้นเรื่อยๆ, การย่อยสลายเร็ว (กร่อน) เมื่อเกิดการสลาย ของ ปะการัง เราก็จะเห็น ฝุ่นขาวๆ ลอยคลุ้งเต็มไปหมด, คุณสมบัติด้าน pH Buffer ของปะการัง ทำให้วิเคราะห์ปัญหาไนเตรท์สะสมได้ยาก ข้อแนะนำในการใช้กับตู้ปลาอโรวาน่า : มีความนิยมใช้อยู่มากพอสมควร แต่ต้องระวังเรื่องไนเตรทสะสมในน้ำ และต้องทำความสะอาดปะการังให้ดี ก่อนนำไปใส่ในระบบกรองด้วยนะครับ
เซรามิค-ริงค์ (Ceramic-Rings) เซรามิค-ริงค์ เป็นวัสดุที่ถูกสร้างขึ้นมาจาก ดินเผา หรือที่เรียกกันว่า เซรามิค(ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วนะครับ) ทำขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุกรองโดยเฉพาะ เซรามิค-ริงค์ จะมีอยู่สองแบบ คือ เซรามิค-ริงค์(แบบไม่มีรูพรุน) และเซรามิค-ริงค์ แบบมีรูพรุน รูปร่าง ลักษณะ และคุณสมบัติ : เซรามิค-ริงค์ ทั้งสองแบบ จะมีลักษณะทรงกระบอก มีรูอยู่ตรงกลาง (ถ้าเพิ่มคำว่า สอดไส้ครีมตรงกลาง คงกลายเป็นขนม ของเด็กๆ ไปแล้วนะครับ 55555) โดยเซรามิค-ริง แบบมีรูพรุน จะมีเนื้อหนากว่า และมีรูพรุน มากกว่า อีกแบบ ทั้งสองแบบจะมีสีขาว เซรามิค-ริงค์(แบบไม่มีรูพรุน) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุกรองทางกายภาพ ทำหน้าที่ดักฝุ่นผง และกระจายน้ำ ส่วนอีกตัวคือ เซรามิค-ริงค์ แบบมีรูพรุน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุกรองทางชีวภาพ ที่ผิวของเซรามิค-ริงค์ แบบมีรูพรุน จะมีรูอยู่แยะมากๆ (ก็เป็นไปตามชื่ออีกละ) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้แบคทีเรีย สำหรับเซรามิค-ริงค์ ที่คุณภาพดี ผ่านการเผ่าที่อุณหภูมิถูกต้องแล้ว จะมีค่า pH เป็นกลาง และจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลง pH ของน้ำ
เซรามิค-ริงค์
ประเภทของวัสดุกรอง : เซรามิค-ริงค์(แบบไม่มีรูพรุน) จัดเป็นวัสดุกรองทางกายภาพ ส่วนเซรามิค-ริงค์ แบบมีรูพรุนจัดเป็นวัสดุกรองทางชีวภาพ อายุการใช้งาน : เซรามิค-ริงค์ สามารถใช้งานได้จนย่อยสลาย แตกหักไปเอง การดูแล บำรุงรักษา: เป็นเรื่องปกติสำหรับ วัสดุที่มีรูพรุนอยู่จำนวนมาก รูพรุนเหล่านี้จะเป็นที่ๆ ฝุ่นผง ต่างๆ เข้าไปอยู่จำนวนมาก ฉะนั้น ก่อนนำไปใช้งาน จึงควรล้าง ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ รอบ และให้นำขึ้นมาล้าง ทำความสะอาดทุกครั้งเมื่อทำการล้างทำความสะอาดระบบกรอง ข้อดี : เซรามิค-ริงค์ แบบมีรูพรุน จะมีรูพรุนสูงมากๆ (ซึ่งเป็นที่อยู่ ของแบคทีเรีย ที่ช่วยในการย่อยสลาย ขอเสียในตู้ปลา ได้อย่างดี) ข้อเสีย : ราคาค่อนข้างสูง และปัจจุบันในตลาดปลาสวยงามบ้านเรา มีเซรามิค-ริงค์ ที่ไม่ได้คุณภาพ ออกมาขายอยู่พอสมควร (บางคนจะเรียกว่าของปลอม) ซึ่งเซรามิค-ริงค์ เหล่านี้ จะมีประสิทธิภาพด้อยลงไป และ/หรือ มีผลกระทบ กับสภาพน้ำ เช่น เรื่องของ pH เป็นต้น ข้อแนะนำในการใช้กับตู้ปลาอโรวาน่า : สำหรับ เซรามิค-ริงค์แบบมีรูพรุน เนื่องจากเป็นวัสดุกรองที่มีคุณภาพสูง จึงเป็นที่นิยมใช้กันมาก ในระบบกรองทุกแบบ (แต่ถ้าต้องซื้อมาใส่ระบบกรองอันใหญ่ๆ ที อาจจะต้องจ่ายมากกว่าราคาปลาซะอีกนะครับ ^__^?) แต่ต้องระวัง เซรามิค-ริงค์ ที่ไม่ได้คุณภาพด้วยนะครับ แนะนำให้หาซื้อยี่ห้อที่เชื่อมั่นในคุณภาพได้ด้วยนะครับ, ส่วนเซรามิค-ริงค์ (แบบไม่มีรูพรุน) นั้น ไม่เป็นที่นิยมครับ แต่มักจะมีคนซื้อไปใช้ เพราะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นแบบมีรูพรุนเหมือนกันครับ
ไบโอบอล (Bio-Balls) ไบโอบอล ก็เป็นวัสดุอีกชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัสดุกรองโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับเซรามิค-ริงค์ ไบโอบอล ทำขึ้นจากพลาสติก และมีน้ำหนักเบา โดยไบโอบอล ในปัจจุบันนี้ มีรูปแบบออกมามากมายหลายแบบ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน ในระบบกรอง เช่น เพิ่ม รู เพิ่มช่อง เพื่อให้แบคทีเรียอยู่อาศัยได้มากขึ้น หรือ มีการนำสารเคมี หรือวัสดุกรองชนิดอื่นไปใส่ไว้ภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามวัสดุกรองนั้นๆ แต่ ที่ผมจะขอพูดถึง เรื่องไบโอบอลนี้ จะพูดถึงเฉพาะรุ่นเก่า หรือบางคนจะเรียกว่า ?ของราคาถูก? หรือเรียกว่า ?ของปลอม? ก็แล้วแต่ แต่ก็เป็นแบบที่หาได้ง่ายที่สุดแล้วนะครับ ตอนนี้จะยังไม่ขอพูดถึงไบโอบอลรุ่นอื่นๆ นะครับ เพราะมากมายเหลือเกิน กลัวว่าจะงงกัน (ไม่ได้กลัวว่าคนอ่านจะงงนะครับ..กลัวผมจะงงซะเองมากกว่าครับ 55555) รูปร่าง ลักษณะ และคุณสมบัติ : โดยทั่วๆ ไปแล้ว ไบโอบอลจะมีลักษณะเป็นทรงกลม เลยได้ชื่อที่ลงท้ายด้วย Ball ครับ แม้ว่าปัจจุบันจะมีบางรุ่นถูกผลิตออกมาเป็นทรงอื่นๆ อย่างเช่น สีเหลี่ยมลูกบาศก์ แต่ก็ไม่มีใครเรียก Bio-Cubes นะครับ ก็ยังคงเรียกกันเป็น Bio-Balls เหมือนเดิม ตัวของไบโอบอล มีหลากหลายสี (แล้วแต่ใครจะทำเป็นสีไหน) พื้นผิว ไม่มีรูพรุน แต่จะถูกทำเป็นครีบ เป็นก้าน เพื่อวัตถุประสงค์ในการ กระจายน้ำออก เพื่อให้ผิวน้ำได้สัมผัสกับอากาศ และดูดซับเอาออกซิเจน ในอากาศไปให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง ไบโอบอล จึงเหมาะแก่การวางไว้ในส่วนที่ให้น้ำไหลผ่าน แต่ไม่จมน้ำ เพราะถ้าไบโอบอลจมน้ำ ครีบของมันก็ไม่สามารถทำให้น้ำสัมผัสกับอากาศได้ ซึ่งจะทำให้ไบโอบอล มีประสิทธิภาพ ไม่ต่างกันกับขอนไม้ หรือก้นหินธรรมดาๆ ที่วางอยู่ในน้ำครับ ประเภทของวัสดุกรอง : จัดเป็นวัสดุกรองทางกายภาพครับ อายุการใช้งาน : ไบโอบอลสามารถใช้งานได้จนย่อยสลาย แตกหัก หรือเปื่อยไปเอง แต่ไม่ควรเก็บไว้ในที่โดนแสงแดด หรือ อุณหภูมิสูง เพราะจะทำให้ไบโอบอล (พลาสติก) เปราะ ย่อยสลาย เปื่อยยุ่ย และแตกหัก เร็วกว่าปกติ การดูแล บำรุงรักษา: ก่อนนำไปใช้งาน ควรล้างเอาคราบสารเคมีที่ติดมากับไบโอบอลออกก่อน ล้างด้วยน้ำสะอาด ก็พอนะครับ (เพื่อนผมบางคนกลัวไม่สะอาด เล่นลงล้างด้วยผงซักฟอกเลย ซะงั้นละ ^__^?) และให้นำขึ้นมาล้าง ทำความสะอาดทุกครั้งเมื่อทำการล้างทำความสะอาดระบบกรอง
ลักษณะของไบโอบอล แบบต่างๆ
ข้อดี : ราคาถูก, ใช้งานได้นาน, น้ำหนักเบา ข้อเสีย : ลูกใหญ่เปลืองเนื้อที่ในระบบกรอง, ไม่มีรูพรุน (มีที่ให้แบคทีเรียอาศัยอยู่น้อย), ต้องวางไว้ในจุดที่ น้ำไหลผ่าน แต่ต้องไม่จมน้ำเท่านั้น ซึ่งทำให้ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับระบบกรองบางแบบ เช่นกรองนอกครับ ข้อแนะนำในการใช้กับตู้ปลาอโรวาน่า : ใช้ได้สำหรับ ผู้เลี้ยงปลาที่มีระบบกรองขนาดใหญ่มากๆ เช่นอยู่ในบ่อปลา, มีกรองล่างขนาดเหลือเฟือ หรือ กรองถังใบใหญ่ๆ ฯลฯ และผู้เลี้ยงปลาที่ไม่ชอบให้มีฟองอากาศในตู้ปลา หรือบ่อปลา (ไบโอบอลช่วยให้อากาศแทนหัวทรายได้) แต่ไม่นิยม และไม่แนะนำสำหรับผู้เลี้ยงปลาทีมีระบบกรองไม่ใหญ่นัก เช่นกรองบน กรองนอก และกรองข้าง ฯลฯ เพราะเปลืองเนื้อที่ในระบบกรองมากๆ และประสิทธิภาพในเรื่องกรองชีวภาพมีน้อย โดยเฉพาะ คนที่ใช้กรองนอกตู้ ซึ่งวัสดุกรองในกรองนอก จะจมอยู่ในน้ำทั้งหมดครับ โดยรวมแล้ว สำหรับตู้ปลาอโรวาน่าทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้ครับ
แอคติเวท คาร์บอน ( Activate Carbon ) แอคติเวท คาร์บอน หรือ ถ่านกัมมันต์ เป็นวัสดุกรองอีกชนิดที่ถูกทำให้เป็นวัสดุกรองโดยเฉพาะ วัตถุดิบของแอคติเวท คาร์บอน ส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น กะลามะพร้าว กะลาปาล์ม ทะลายปาล์ม ฯลฯ มาผ่านกระบวนการกระตุ้น (activation) ให้มีพื้นที่ผิวสูง มีปริมาณคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก มีความจุในการดูดซับสูง และมีรูพรุนขนาดเล็กจำนวนมาก รูปร่าง ลักษณะ และคุณสมบัติ : แอคติเวท คาร์บอน มีลักษณะเป็นของแข็งสีดำ อาจอยู่ในรูปของผงหรือเม็ดก็ได้ มีโครงสร้างรูพรุนขนาดเล็ก พื้นที่ผิวดูดซับสูง ทำให้มีสมบัติการดูดซับที่ดี ใช้ประโยชน์ในการกำจัดกลิ่น สี หรือแก๊ส รวมทั้งสารพิษบางชนิด เช่น แอมโมเนีย และคลอรีน
ลักษณะของ แอคติเวท คาร์บอน
ประเภทของวัสดุกรอง : เป็นวัสดุกรองทางเคมี อายุการใช้งาน : แอคติเวท คาร์บอน ที่นำไปใช้ในเครื่องกรองน้ำ ปกติ จะมีการเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 1 ปี แต่สำหรับในระบบกรองตู้ปลาที่มีน้ำไหลผ่านตลอด จะใช้กันไม่เกิน 1 เดือน การดูแล บำรุงรักษา: การใช้ แอคติเวท คาร์บอน ในระบบกรอง ต้องคอยหมั่นเอาออกมาล้าง บ่อยๆ โดยใช้ เกลือเข้มข้น (เกลือเข้มข้น จะทำให้ แอคติเวท คาร์บอน คลายสารพิษออกมา) ล้างหลายๆ รอบ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง และ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนการนำไปใช้ในเครื่องกรองน้ำ จะทำความสะอาดโดยวิธี ปล่อยน้ำย้อน เพื่อเป็นการล้างฝุ่นผงที่ติดอยู่ในถังกรอง ให้ไหลออกมา แต่อย่างไรซะ ก็ควรทำการเปลี่ยนใหม่ เมื่อถึงอายุการใช้งานครับ ข้อดี : ราคาถูก, ใช้ในการดูดกลิ่นและสารพิษได้ดี ข้อเสีย : แอคติเวท คาร์บอน มีอายุการใช้งานของมันครับ เมื่อใช้ไปจนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัว (ดูดซับของเสียจนอิ่มตัว) แอคติเวท คาร์บอน ก็จะทยอย คายของเสีย ที่มันกักเก็บไว้ สู่ ตู้ปลาของเรา ทำให้ปลาเราป่วย หรือ ตายได้, ทำปฏิกิริยา กับน้ำเกลือเข้มข้น ซึ่งจะทำให้ แอคติเวท คาร์บอน คลายของเสียออกมาเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ข้อแนะนำในการใช้กับตู้ปลาอโรวาน่า : แอคติเวท คาร์บอน ได้รับความนิยมมาก ในการนำมาใช้เป็นวัสดุกรองสำหรับถังกรอง กรองสารพิษในน้ำประปา (โดยเฉพาะคลอรีน) ก่อนจะปล่อยเข้าตู้ปลา แต่สำหรับระบบกรอง ของตู้ปลาอโรว่าน่า กลับไม่เป็นที่นิยมครับ เนื่องจาก ปัญหาเรื่องการคลายของเสีย เมื่อทำปฏิกิริยา กับน้ำเกลือเข้มข้น และเมื่อถึงจุดอิ่มตัว เหมือนกับคุณสมบัติของซีโอไลท์ ซึ่งผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่าส่วนใหญ่จะมองว่า ไม่คุ้มที่จะเสี่ยงครับ แต่ก็มีผู้เลี้ยงปลา บางคนใส่ แอคติเวท คาร์บอนลงไปในระบบกรอง ของตู้ใบใหม่ เพื่อช่วยดูดสารพิษ จากตู้ใบใหม่ ไม่ให้เป็นพิษกับตัวปลาด้วยครับ และจะเอา แอคติเวท คาร์บอน ออกหลังจากใช้งานไปได้ ประมาณ หนึ่งเดือน
ใยกรองต่างๆ (Filter) ใยกรองต่างๆ ที่ใช้สำหรับระบบกรอง มีกันหลากหลายแบบ ทั้งแบบใยแก้ว และแบบฟองน้ำ แบบกรองหยาบ กรองละเอียด แม้ว่าใยกรองบางตัวจะถูกเรียกกันว่า ?ใยแก้ว? แต่จริงๆ แล้วทำขึ้นจาก พลาสติกไฟเบอร์ครับ แม้จะชื่อเหมือนกัน แต่เป็นคนละอย่างกับใยแก้วที่อยู่ในท่อไอเสียรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ทำขึ้นจากแก้วจริงๆ ซึ่งละอองของใยแก้วชนิดนี้ จะเป็นอันตรายต่อปอดและระบบการหายใจของคนเรามาก ใยกรองของเราจึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้เลี้ยงปลานะครับ รูปร่าง ลักษณะ และคุณสมบัติ : ใยกรองส่วนใหญ่จะมีรูปร่าง เป็นแผ่นสีเหลี่ยมแบนๆ แต่จะมีอยู่หลายลักษณะ แต่จะแยกกันเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เป็นฟองน้ำ และกลุ่มที่เป็นใยแก้ว ในกลุ่มที่เป็นใยแก้วนั้น ก็ยังถูกแบ่งออกไปได้อีกหลายแบบ แบ่งเป็นใยกรองหยาบ ใยกรองระเอียด ส่วนเรื่องสีของใยกรอง ก็มีหลากหลายสี เช่นกัน ส่วนมากที่จะเห็นกันจะมีเป็นสี ขาว (เห็นมากในใยแก้ว แบบกรองหยาบ), เขียว, น้ำเงิน และดำ(เห็นมากในกลุ่มของฟองน้ำ) ใยกรองเหล่านี้ ถูกทำขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์หลักคือ กรองฝุ่น ผง ตะกอน ในน้ำ ความละเอียด ของใยกรองยิ่งมาก จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการกรองได้สูง แต่ก็มีใยกรองบางประเภท เช่นในกลุ่มของฟองน้ำ จะมีพื้นที่ว่างให้แบคทีเรีย เข้าไปอยู่อาศัยได้ ซึ่งจะนับว่าเป็นกรองชีวภาพด้วยก็น่าจะได้ ประเภทของวัสดุกรอง : ส่วนมาก จัดว่าเป็นวัสดุกรองทางกายภาพครับ อายุการใช้งาน : ไม่มีอายุการใช้งานที่แน่นอนครับ ใช้ได้จนกระทั่ง อุดตัน หรือ ชำรุดไปเองครับ
ลักษณะของใยกรอง
การดูแล บำรุงรักษา: ในกลุ่มที่เป็นฟองน้ำ ต้องนำออกมาล้างน้ำบ่อยๆ ครับ จะได้ไม่เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก และเชื้อโรค ส่วนในกลุ่มใยแก้ว ก็ต้องนำออกมาทำความสะอาดเมื่อของเสีย เริ่มอุดตันครับ แต่ส่วนใหญ่ เมื่อนำออกมาซัก ล้าง เนื้อของใยแก้วจะบางลงเรื่อยๆ และประสิทธิภาพในการกรองก็จะลดลงไปด้วย และเมื่อถึงเวลาช่วงหนึ่ง จึงต้องทำการเปลี่ยนใหม่ครับ ข้อดี : ราคาถูก, ใช้ดักตะกอน สิ่งสกปรกในน้ำได้ดี ข้อเสีย : สำหรับกรองฟองน้ำ มักจะพบปัญหาเรื่อง สิ่งสกปรก หมักหมม จนทำให้เกิดโรคกับปลาได้, สำหรับตู้ที่มีของเสียมาก ใยกรองจะเต็มเร็วมาก ข้อแนะนำในการใช้กับตู้ปลาอโรวาน่า : ในกลุ่มของฟองน้ำ นิยมใช้แบบกรองฟองน้ำเป็นกรองเสริมสำหรับช่วยกรอง เศษฝุ่น และตะกอนในน้ำ แต่ไม่ได้รับความนิยมใช้เป็นวัสดุกรองใน ระบบกรองชนิดอื่น เพราะ ปัญหาเรื่องการหมักหมมของสิ่งสกปรก ส่วนในกลุ่มใยแก้ว นิยมใช้ใยกรองหยาบ (สีขาว) มากๆ ในระบบกรองทุกชนิด แต่ไม่ค่อยนิยมใช้ใยกรองละเอียด เนื่องจาก มีความละเอียดมากเกินไป จนบางครั้งทำให้น้ำผ่านได้ยาก หรือ บางครั้งอาจทำให้เกิด ระบบกรองอุดตันได้ และสำหรับระบบกรองที่ไม่ใช่ระบบปิด อาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ้านได้นะครับ (ผมเคยเจอปัญหากับกรองบนมาแล้วครับ ดีที่เห็นเร็ว ไม่งั้นปลาคงแห้งตายไปด้วย)

ระบบกรองน้ำ ทั้ง 8 สำหรับตู้ปลา


ระบบกรอง กับตู้ปลาสวยงาม

สวัสดีครับ พี่ๆ เพื่อนๆ สมาชิกติด - (ติดลบ)ทุกๆ คน โดยส่วนตัวของผมเองแล้ว การเลี้ยงปลา ให้เจริญเติบโต ได้ สวย สมบูรณ์ แล้วนั้น มีตัวแปรหลักๆ อยู่สองอย่างครับ นั่นคือ เลือกปลาดี และเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ดี ครับ ในประการแรก การได้ปลาที่ สวย สมบูรณ์ ทั้งทางกาย และจิตรใจนั้น ถือว่าได้เปรียบไปได้ครึ่งหนึ่งแล้วครับ เพราะ สำหรับปลาที่มีตำหนิ ไม่สวย หรือสุขภาพจิตไม่ดี นั้น การที่จะเลี้ยงให้เป็นปลาที่สวยงาม สมบูรณ์ คงต้องบอกว่าเป็นไปได้ยากมากๆ จนอาจจะถึงขั้นที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว
ส่วนประการหลัง สภาพแวดล้อมที่ดี คือสภาพแวดล้อมที่มีความสมดุล และเหมาะสมในการเลี้ยงปลา ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ ได้แก่ พื้นที่ในการเลี้ยงปลา ปริมาณแสง อาหาร และที่จะขอเน้นตรงนี้ก็คือการบำบัดน้ำ และการทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงปลามีคุณภาพที่ดีอยู่เสมอนั่นเอง ปัจจุบันนี้ ในกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม ถ้าจะพูดถึงเรื่องระบบกรองน้ำ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไรนักนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าคงมีไม่น้อยเหมือนกันที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ทราบถึงความสำคัญของระบบกรองในตู้ปลา มันเป็นยังไงหรือ , มีไว้ทำไม , จำเป็นแค่ไหน , ไม่มีได้ไหม คือคำถามที่ผมมักจะได้ยินเป็นประจำจากคนที่กำลังคิดที่จะเริ่มเลี้ยงปลาสวยงาม เมื่อไปยืนเกาะหน้าตู้ที่ร้านขายปลาแถวๆ บ้าน(ยืนเกาะหน้าตู้ปลานะครับ อย่าไปคิดกันไปไกลละ ^__^?) วันนี้ผมเลยอยากจะหยิบเอาเรื่องนี้ มาลองบอกเล่า นำเสนอให้เพื่อนๆ พี่ๆ ได้ลองอ่านกันดูครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะคนที่กำลังคิดจะเริ่มเลี้ยงปลาสวยงามกัน
ทำไมต้องมีระบบกรอง ในตู้ปลา หรือ สถานที่เลี้ยงปลาของเรานั้น ระบบกรองน้ำ มีเอาไว้เพื่อใช้บำบัดของเสียในน้ำในตู้ปลา ส่วนของเสียในตู้ปลามาจากไหนละ ก็มาจากอาหารที่เหลือในตู้และของเสียจากตัวปลา (เช่นขี้ปลา) นั่นไงครับ นอกจากสิ่งสกปรกที่เห็นเป็นตะกอน เป็นเม็ดฝุ่นลอยกันอยู่ในตู้แล้วนั้น ทั้งอาหารที่เหลือตกค้างในตู้ปลา และของเสียที่ออกจากตัวปลา จะถูกจุลินทรีย์ในน้ำทำการย่อยสลายทำให้กลายเป็นสารพิษสะสมในน้ำ และตัวปลา 
ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อตัวปลาทำให้ปลาป่วย และตายได้ครับ สำหรับระบบกรองที่ดี จะทำหน้าที่กรองสิ่งสกปรก และย่อยสลายของเสียเหล่านี้ ทำให้น้ำในตู้มีคุณภาพที่ดี เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของปลา และเมื่อมีระบบกรองที่ดีก็จะช่วยให้ปลาที่รักของเรา ได้อยู่ในตู้น้ำใสๆ กินดีอยู่ดี โตไว สีสวย สมบูรณ์ ลดปัญหาเรื่องปลาป่วยให้เราได้ด้วยครับ
ระบบกรองในตู้ปลา แบบต่างๆ เมื่อรู้ถึงประโยชน์ของระบบกรอง และรู้ว่าทำไมตู้ปลาของเราจะต้องมีระบบกรองกันแล้ว เรามารู้จักระบบกรองแบบต่างๆ ที่นิยมนำมาใช้กับตู้ปลากันดีกว่าครับ ระบบกรองทั่วไป จะแบ่งเป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ กรองกายภาพ , กรองเคมี และกรองชีวภาพ 
กรองกายภาพ(Mechanical) คือกรองที่ทำหน้าที่กรองตะกอน ฝุ่น ต่างๆ ทำให้น้ำดูใสขึ้น วัสดุกรองที่นำมาใช้สำหรับกรองกายภาพ ก็อย่างเช่น อุปกรณ์ประเภทใยกรองต่างๆ 
กรองเคมี(Chemical) คือกรองที่ทำหน้าที่กรอง ดักจับสารเคมี ที่ไม่ต้องการ เช่น คลอรีน โลหะหนักต่างๆ วัสดุกรองที่นำมาใช้สำหรับกรองเคมี ก็อย่างเช่น คาร์บอน เรซิ่น , ซิโอไลท์ เป็นต้น 
รองชีวภาพ(Biological) คือกรองที่ทำหน้าที่ย่อยสลายของเสีย จำพวก แอมโมเนีย ไนไตรท์ ให้ลดความรุนแรงลง หรือไปอยู่ในรูปที่ไม่เป็นสารพิษ สำหรับกรองชีวภาพ เป็นระบบกรองที่วัสดุกรองไม่ใช่ตัวที่ทำหน้าที่กรองสารพิษ แต่ใช้วัสดุกรองเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ เล็กๆจำพวกแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งทำหน้าที่ ย่อยสลายสารพิษอีกที วัสดุกรองที่นำมาใช้สำหรับกรองชีวภาพ ก็อย่างเช่น หินพัมมีส ปะการัง เซรามิคริงก์ เป็นต้น โดยในระบบกรองแต่ละแบบ อาจจะเป็นระบบกรองประเภทเดียว หรือการผสมผสาน ระบบกรองมากกว่าหนึ่งประเภทก็ได้ครับ 
แต่สำหรับตู้ปลาอโรวาน่าและปลาอีกหลายประเภทนั้น ภายในระบบกรองจะนิยมใช้เพียงสองประเภท คือกรองกายภาพ และชีวภาพ ส่วนระบบกรองเคมีนั้น เนื่องจากวัสดุกรองส่วนใหญ่ จะมีข้อจำกัดเรื่องอายุการใช้งานของมัน ซึ่งถ้าหากไม่ทำการเปลี่ยนให้ตรงตามเวลาจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าจึงไม่เป็นที่นิยมนัก เรามาดูระบบกรองแต่ละแบบกันเลยดีกว่านะครับ

แบบที่ 1 กรองพื้นตู้ 
คิดว่าเป็นระบบกรองที่ได้รับความนิยมใช้กันมากอันดับต้นๆ สำหรับตู้ปลาทั่วๆ ไป โดยเฉพาะตู้ไม้น้ำ แต่สำหรับ ตู้ปลาอโรวาน่านั้น กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น สาเหตุหลักๆ ก็คงเนื่องมาจาก ระบบกรองแบบนี้ จะต้องนำมาใช้ร่วมกับ กรวด หรือหินปูพื้น ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่ามักจะนิยมเลี้ยงปลาในพื้นตู้โล่งมากกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งสกปรกหมักหมมในกรวดพื้นตู้
กรองพื้นตู้
สำหรับกรองพื้นตู้ ต้องใช้ร่วมกันกับ ปั้มลม และหิน หรือกรวดปูพื้น หลักการทำงานของระบบกรองพื้นตู้ คือ ต่อท่อลมเข้าไปในท่อ เพื่อให้ใต้แผ่นกรองเกิดสภาพ สูญญากาศขึ้น และดูดเอาฝุ่นผง สิ่งสกปรกลงไปติดอยู่ที่ชั้นกรวดปูพื้น ในระบบกรองแบบนี้ กรวดทรายบริเวณส่วนบนยังสามารถเป็นที่อยู่ให้แบคทีเรียได้อาศัยย่อยสลายสารพิษได้อีกด้วย
การทำงานของกรองพื้นตู้
ประเภทของกรอง : กรองกายภาพ และ กรองชีวภาพ 
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : ได้ทั้งตู้ขนาดเล็ก และตู้ขนาดใหญ่ (ใช้หลายๆ หัว) แต่ไม่นิยมกับการนำไปใช้ในบ่อปลา 
การบำรุงรักษา : ต้องมีช่วงเวลาในการล้างทำความสะอาดครับ เช่น 6 เดือนครั้ง หรือปีละครั้ง ซึ่งตอนที่จะล้างต้องเอาหินและปลาออกทั้งหมดครับ เพราะน้ำจะสกปรกมากๆ สิ่งสกปรกที่ถูกดูดเข้าไปทั้งปีจะลอยมาเต็มตู้ไปหมด 
ข้อดี : ราคาถูก, หาซื้อง่าย, เป็นกรองที่ให้อากาศในตู้ปลาได้ในตัว, กรองผงฝุ่นสิ่งสกปรกในน้ำได้ดี 
ข้อเสีย : บริเวณพื้นตู้จะเป็นที่หมักหมมของสิ่งสกปรกมาก, ล้าง ทำความสะอาดยากครับ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : มีการนำระบบกรองแบบนี้มาใช้กับตู้ปลาอโรวาน่าบ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะต้องใช้ร่วมกับกรวดที่ปูพื้น ซึ่งผู้เลี้ยงหลายท่านคิดว่า ทำให้เกิดของเสียหมักหมม และทำความสะอาดยาก

แบบที่ 2 กรองฟองน้ำ และกรองเหลี่ยม 
กรองฟองน้ำ และกรองเหลี่ยม ก็เป็นกรองอีกสองแบบที่มีหลักการ การทำงานคล้ายๆ กรองพื้นตู้ แต่มีการทำให้มีขนาดเล็กลง สะดวกต่อการนำออกมาทำความสะอาดมากกว่ากรองพื้น การใช้งานต้องใช้ร่วมกันกับปั้มลม แต่ไม่ต้องใช้กับกรวดปูพื้นตู้ จึงสามารถใช้กับตู้พื้นโล่งได้ แต่จากขนาดที่เล็กลงจึงทำให้ประสิทธิภาพหลายๆ ส่วนลดลงด้วย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำความสะอาดบ่อย จึงไม่มีที่อยู่ให้แบคทีเรีย คุณสมบัติด้านกรองชีวภาพจึงหมดไป
กรองฟองน้ำ
กรองเหลี่ยม
ประเภทของกรอง : กรองกายภาพ 
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : กรองฟองน้ำ และกรองสามเหลี่ยมนั้นไม่มีคุณสมบัติด้าน กรองชีวภาพอยู่ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นกรองเสริม คือใช้ร่วมกับกรองแบบอื่นๆ มากกว่ากรองหลักเดียวๆ แต่ก็มีผู้เลี้ยงปลาบางท่าน นิยมเอาไปใช้กับปลาที่มีความทนต่อสภาพน้ำได้มาก เช่นปลาหมอสี อย่างไรซะแม้ว่าปลาบางชนิดจะทนต่อสภาพน้ำได้มาก แต่สารพิษก็ไม่เป็นผลดีกับตัวปลาอยู่ดีนะครับ 
การบำรุงรักษา : เนื่องจากมีขนาดเล็กลงมากจากกรองพื้นตู้ พื้นที่ในการเก็บ ฝุ่น สิ่งสกปรก ในน้ำ จึงน้อยลงมากไปด้วย การทำความสะอาดจึงต้องทำบ่อยมากขึ้น ส่วนจะบ่อยแค่ไหน จุดนี้ขึ้นกับปริมาณ ฝุ่นละออง ในตู้ปลาด้วย บางตู้ของเสียมากๆ อาจจะต้องล้างทุกสัปดาห์ หรือบ่อยกว่านั้น 
ข้อดี : ราคาถูก, หาซื้อง่าย, เป็นกรองที่ให้อากาศในตู้ปลาได้ในตัว, กรองผงฝุ่นสิ่งสกปรกในน้ำได้ดี, บำรุงรักษา ทำความสะอาดได้ง่าย 
ข้อเสีย : ไม่มีคุณสมบัติด้านกรองชีวภาพ, ต้องทำความสะอาดบ่อย, ประสิทธิภาพ ต่อตัวน้อย, ถ้าไม่ได้รับความดูแล ทำความสะอาดอย่างเพียงพอ จะเป็นแหล่งหมักหมมเชื้อโรค และทำให้ปลาป่วยเอาได้ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : นิยมใช้กรองฟองน้ำเป็นกรองเสริมสำหรับกรองฝุ่น ในน้ำ ควบคู่กันกับกรองหลักประเภทอื่น แต่ต้องเอาออกมาทำความสะอาด ล้างเอาฝุ่นออกบ่อยๆ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการหมักหมมจนทำให้ปลาเป็นโรค อย่างเช่น เกล็ดกร่อน เกล็ดพอง ได้

แบบที่ 3 กรองแขวน กรองแขวน 
เป็นกรองที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ มาร่วม คือ ทำงานเสร็จในตัวของมันเอง กรองแขวนเป็นกรองขนาดเล็กที่ ทำงานด้วยไฟฟ้าโดยการทำงานของกรองแขวนจะทำการดูดน้ำจากตู้ปลา เข้ามาในระบบกรอง และปล่อยน้ำผ่านวัสดุกรองและล้นกลับตู้ปลาในช่องน้ำล้นของระบบกรอง โดยวัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ นิยมใช้เป็นวัสดุกรองกายภาพ เช่น พวกใยกรองต่างๆ
กรองแขวน
ประเภทของกรอง : กรองกายภาพ 
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : กรองแขวนเป็นระบบกรองขนาดเล็ก จึงเหมาะสมกับตู้ขนาดเล็ก 
การบำรุงรักษา : เนื่องจากมีขนาดเล็กลงมากจากกรองพื้นตู้ พื้นที่ในการเก็บ ฝุ่น สิ่งสกปรก ในน้ำ จึงน้อยลงมากไปด้วย การทำความสะอาดจึงต้องทำบ่อยมากขึ้น ส่วนจะบ่อยแค่ไหน จุดนี้ขึ้นกับปริมาณ ฝุ่นละออง ในตู้ปลาด้วย บางตู้ของเสียมากๆ อาจจะต้องล้างทุกสัปดาห์ หรือบ่อยกว่านั้น
ข้อดี : ราคาไม่แพงนัก, ไม่ต้องหาอุปกรณ์อื่นมาช่วยในการใช้งาน 
ข้อเสีย : ไม่มีคุณสมบัติด้านกรองชีวภาพ, ต้องทำความสะอาดบ่อย, ประสิทธิภาพ ต่อตัวน้อย 
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า: ไม่นิยมใช้สำหรับตู้อโรวาน่า เพราะประสิทธิภาพการทำงานน้อยเกินไป

แบบที่ 4 กรองบน และกรองถัง 
เป็นระบบกรองอีกสองแบบที่มีหลักการทำงานคล้ายๆ กัน คือ ใช้ปั้มน้ำดูดเอาน้ำจากตู้ปลา เข้าไปด้านบนของระบบกรอง และปล่อยให้น้ำไหลผ่านผ่านวัสดุกรองต่างๆ ลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก และไหลกลับไปที่ตู้ปลา ตรงช่อง หรือท่อน้ำออกที่ทำเอาไว้ วัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมี และชีวภาพ
ลักษณะกรองบนขนาดเล็ก และขนาดใหญ่
กรองถังและกรองบน
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน 
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : กรองทั้งสองแบบ มีหลากหลายขนาดให้เลือก จึงสามารถใช้ได้กับตู้หลายขนาด กรองบน สามารถใช้ได้กับตู้ปลาขนาดเล็ก จนถึงตู้ขนาดใหญ่ ส่วนถังกรองใช้ได้กับตู้ปลาขนาดใหญ่ และนิยมมากในบ่อปลาขนาดเล็ก ถึงบ่อปลาขนาดกลาง 
การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ เดือน ถึงหนึ่งปี ขึ้นกับประสิทธิภาพของใยกรองชีวภาพ ขนาดของกรอง และปริมาณของเสียในน้ำ 
ข้อดี : ประสิทธิภาพสูง, ราคาไม่สูง, รูปแบบไม่ยาก ไม่ซับซ้อนอะไรมากนัก ผู้เลี้ยงบางคนสามารถทำเองได้ 
ข้อเสีย : หน้าตาไม่สวย, ต้องวางไว้ด้านบนของตู้ มีสายไฟ และท่อดูเกะกะสายตา, สำหรับกรองขนาดใหญ่จะมีน้ำหนักมาก จึงต้องมี
การทำที่วางที่แข็งแรงพอ, การวางกรองบนไว้บนตู้ปลา เป็นการเพิ่ม ภาระสำหรับกระจก ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้, บำรุงรักษาทำความสะอาดยาก (ต้องปีนขึ้นไปบนตู้), กรองแบบนี้ ต้องควบคุมปริมาณน้ำเผื่อไว้ให้ดีครับ เพราะถ้าไฟดับ หรือปั้มเสีย น้ำอาจจะท่วมตู้ได้ครับ 
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : กรองบนขนาดเล็ก สำหรับตู้ปลาอโรวาน่ามีการนำมาใช้เป็นกรองเสริมบ้างแต่ไม่เป็นที่นิยมมากนักแต่สำหรับกรองบนขนาดใหญ่ เป็นที่นิยมกันพอสมควรในต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นใครใช้กัน (จริงๆ ไม่เคยเห็นร้านไหนเอาเข้ามาขาย) ในส่วนกรองถัง นิยมใช้กันมากสำหรับผู้ที่เลี้ยงปลาในบ่อขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แต่ไม่นิยมสำหรับตู้ปลา เนื่องจากปัญหาหลักเรื่องความสวยงาม และที่วางถัง วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองสองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้

แบบที่ 5 กรองนอก 
เป็นกรองที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ สำหรับผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่า ที่มีตู้ขนาดประมาณ 60 นิ้ว เนื่องจากกรองแบบนี้จะใช้พื้นที่ในตู้ปลาน้อยมาก และประสิทธิภาพยังอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้ครับ โดยการทำงานของกรองแบบนี้ น้ำจะถูกดูดออกจากตู้ปลาเข้าสู่ถังกรองโดยอาศัยหลักการของกาลักน้ำ เมื่อน้ำเข้าสู่ระบบกรอง จะผ่านวัสดุกรองภายในถังกรองและ ปั้มในถังกรองจะปั้มเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดมาแล้วกลับเข้าสู่ตู้ปลาอีกครั้งวัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมี และชีวภาพ
กรองนอกตู้
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน 
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : มีหลากหลายขนาดให้เลือก จึงสามารถใช้ได้กับตู้ขนาดเล็ก จนถึง 72*30*30 แต่เป็นที่นิยมมากในตู้ไม่เกิน 60*30*30 
การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ปกติจะนิยมทำกันทุกๆ สัปดาห์ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ 1-2 เดือน ขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ 
ข้อดี : ใช้พื้นที่ในตู้ปลาไม่มาก, ดูเป็นสัดส่วน, ไม่เกะกะ, หลายๆ รุ่น มีรูปร่างดูสวยงาม 
ข้อเสีย : ประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น ผง ไม่ดีนัก, ใส่วัสดุกรองได้ไม่มาก, ราคาสูง, การบำรุงรักษา ทำความสะอาดยาก, ติดตั้งยาก, ไม่สามารถทำงานกับบ่อ หรือตู้ที่อยู่ระดับเดียวกัน หรือต่ำกว่าถังกรองได้ 
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : นิยมมากสำหรับตู้ปลาขนาดความยาว 60 นิ้ว เพราะใช้พื้นที่ในตู้ปลาไม่มาก วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้

แบบที่ 6 กรองข้าง, กรองมุม และกรองสามเหลี่ยม (กรองเพชร)
กรองแบบนี้ จะมีทั้งแบบทำขึ้นพร้อมตู้ปลา และเป็นสำเร็จซื้อมาใส่เพิ่มทีหลังได้ แต่จะนิยมแบบทำมาพร้อมตู้ปลามากกว่า หลักการทำงานของกรองแบบนี้ คือ น้ำจะไหลเข้ากรองจากทางช่องรับน้ำ ซึ่งปัจจุบันนิยมทำไว้ทั้งด้านล่าง และด้านบน(ผิวน้ำ) ของตู้ และไหลเข้าระบบกรองผ่านวัสดุกรองลงไปที่ปั้มน้ำด้านล่าง ปั้มจะปั้มเอาน้ำออกจากระบบกรองกลับไปในตู้ วัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมีและชีวภาพ
กรองข้าง
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน ขนาดตู้ที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับตู้ขนาดเล็ก ตั้งแต่ 24 นิ้ว จนถึง 48 นิ้ว สำหรับกรองมุม และได้ถึง 84 นิ้วสำหรับกรองข้างแบบเต็ม 
การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ 1-2 เดือน ขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ 
ข้อดี : กรองข้างเต็มจะใส่วัสดุกรองได้มากพอสมควร, ราคาไม่แพง, กรองฝุ่นผง ได้ดี, สามารถกรองของเสียจากระดับพื้นตู้ และผิวน้ำ 
ข้อเสีย : ต้องติดตั้งอยู่ด้านข้างของตู้ จึงทำให้มุมมองไม่สวยงามนัก, เสียพื้นที่ในตู้พอสมควร, การบำรุงรักษา ทำความสะอาดยาก
เพราะต้องขึ้นไปเอาวัสดุกรองออกมาล้างจากด้านบนของตู้, ทำการดัดแปรง แก้ไข เปลี่ยนระบบยาก เพราะมันจะติดอยู่ที่ตู้, ต้องควบคุมระดับน้ำให้ดี ไม่เช่นนั้น อาจทำให้น้ำในระบบกรองแห้งจนปั้มไหม้ได้ 
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : กรองข้างเต็มได้รับความนิยมพอสมควรสำหรับตู้ปลาอโรวาน่าขนาด 72 นิ้ว เพราะมีพื้นที่ด้านข้างพอสำหรับแบ่งไปทำกันกรองได้ 7-8 นิ้ว โดยไม่ทำให้ตู้ดูสั้นเกินไป การทำกรองข้างสำหรับตู้ปลาอโรวาน่านั้น ต้องกำหนดแบบให้ช่างทำตู้ ทำหวีน้ำล้นระดับน้ำให้ต่ำลงมาจากระยะคานตู้ประมาณ 4 นิ้ว เพื่อป้องกันหัวปลาอโรวาน่าชนคาน ขณะกินอาหารบริเวนผิวน้ำ และควรปิดช่องกรองให้มิดชิดอย่าให้ปลากระโดดเข้าไปเป็นปลาตากแห้งในช่องกรองได้ วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองสองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้

แบบที่ 7 กรองล่างหรือกรองใต้ตู้ 
กรองล่าง
เป็นกรองแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะสำหรับตู้ปลาขนาดใหญ่ ด้วยเพราะว่าจัดเป็นระบบกรองที่มีประสิทธิภาพสูง มีพื้นที่ ที่สามารถใส่วััสดุกรองได้มากสามารถบำบัดของเสียได้ดี และทำความสะอาดง่าย การทำงานของกรองแบบนี้ เริ่มจาก น้ำในตู้ปลาไหลไปหาระบบกรองจากช่องน้ำล้น(ลักษณะเหมือนกรองมุม แต่จะไม่มีชั้นกรอง) ไหลไปที่ระบบกรองที่ส่วนใหญ่นิยมวางไว้ใต้ตู้ และไหลผ่านชั้นของวัสดุกรองต่างๆ จนไปอยู่ที่ตำแหน่งของปั้ม ซึ่งจะทำการปั้มเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว กลับเข้าไปในตู้ปลา วัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมี และชีวภาพกรองล่างแบบหวีน้ำล้นด้านเดียว และสองด้าน
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน 
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับตู้ขนาดกลาง ตั้งแต่ 48 นิ้ว จนถึงขนาดใหญ่ 144 นิ้ว หรือมากกว่า แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้กับตู้ขนาด 72 นิ้วขึ้นไปมากกว่า การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ 6 เดือน ถึง หนึ่งปี ขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ 
ข้อดี : มีพื้นที่ให้สำหรับวัสดุกรองจำนวนมากจึงมีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำ, ทำการบำรุงรักษา ล้างทำความสะอาดค่อนข้างง่าย เมื่อเทียบกับระบบกรองขนาดใหญ่แบบอื่น
ข้อเสีย : เสียพื้นที่มาก (ใต้ตู้), การติดตั้งระบบต้องใช้งบประมาณสูง, อัตราการระเหยของน้ำจะสูงมาก ต้องควบคุมระดับน้ำให้ดี ไม่เช่นนั้น อาจทำให้น้ำในระบบกรองแห้งจนปั้มไหม้ได้ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : เป็นที่นิยมมากสำหรับตู้ปลาขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 72 นิ้วขึ้นไป สำหรับตู้ที่มีขนาดยาวมากๆ เช่น 120 นิ้ว ขึ้นไป ก็สามารถทำหวีน้ำล้นเป็นสองฝั่งของตู้ได้ กรองล่างสำหรับตู้ปลาอโรวาน่านั้น ต้องกำหนดแบบให้ช่างทำตู้ ทำหวีน้ำล้นระดับน้ำให้ต่ำลงมาจากระยะคานตู้ประมาณ 4 นิ้ว เพื่อป้องกันหัวปลาอโรวาน่าชนคาน ขณะกินอาหารบริเวนผิวน้ำ และควรปิดช่องกรองให้มิดชิด อย่าให้ปลากระโดดเข้าไปในช่องกรองได้ วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองสองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้

แบบที่ 8 เครื่องกรองน้ำ 
กรองชนิดนี้ เป็นชุดกรองที่นิยมนำมากรองน้ำ สำหรับน้ำดื่มประจำบ้านทั่วๆ ไป และสำหรับตู้เลี้ยงปลา กรองแบบนี้จะถูกนำมาใช้กรองน้ำที่มาจากแหล่งน้ำ เช่น น้ำประปา หรือน้ำบาดาล ก่อนที่จะนำน้ำไปเข้าตู้ปลา กรองแบบนี้ จะใส่วัสดุกรองประเภท กรองเคมี เข้าไป ตามความต้องการที่จะกำจัดสารพิษ เช่น คาร์บอน เพื่อกรองคลอรีน หรือเรซิ่น เพื่อกรองสารพิษจำพวกโลหะหนัก หรือแก้ปัญหาเรื่องน้ำกระด้าง เป็นต้น กรองแบบนี้ อาจมีชื่อเรียกต่างๆ ออกไป ตามวัตถุประสงค์ หรือตามชนิดของวัสดุกรอง เช่น กรองคลอรีน กรองคาร์บอน กรองเรซิ่น เป็นต้น
เครื่องกรองน้ำ
ประเภทของกรอง : กรองเคมี ขนาดตู้ที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับตู้ปลา และบ่อทุกขนาด โดยประสิทธิภาพของการกรองสารพิษ จะขึ้นกับขนาดของกรอง และปริมาณของวัสดุกรอง 
การบำรุงรักษา : ต้องทำการปล่อยน้ำให้ไหลย้อนระบบ เพื่อเป็นการล้างเอาสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในวัสดุกรองออกเสมอๆ และต้องนำส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ซึ่งปกติจะทำการเปลี่ยน ทุกๆ ปี 
ข้อดี : ขจัดปัญหาเรื่องสารพิษ ที่จะมากับน้ำได้ดี 
ข้อเสีย : วัสดุกรองเคมี มีอายุการใช้งานของแต่ละชนิด ถ้าไม่ได้รับการดูแลและเปลี่ยนใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจจะเป็นอันตรายกับปลาของเราได้ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : นิยมนำกรองคาร์บอน มาใช้เพื่อกรองเอาสารพิษประเภท คลอรีนจากน้ำประปา
ฮ่าๆๆ หมดซะที พิมพ์ซะหน้ามืดเลย ^___^? หากมีข้อมูลผิดพลาด ตกหล่นประการใด ก็ขออภัยมา ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ
TTDC..