ระบบกรอง กับตู้ปลาสวยงาม
สวัสดีครับ พี่ๆ เพื่อนๆ สมาชิกติด - (ติดลบ)ทุกๆ คน โดยส่วนตัวของผมเองแล้ว การเลี้ยงปลา ให้เจริญเติบโต ได้ สวย สมบูรณ์ แล้วนั้น มีตัวแปรหลักๆ อยู่สองอย่างครับ นั่นคือ เลือกปลาดี และเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ดี ครับ ในประการแรก การได้ปลาที่ สวย สมบูรณ์ ทั้งทางกาย และจิตรใจนั้น ถือว่าได้เปรียบไปได้ครึ่งหนึ่งแล้วครับ เพราะ สำหรับปลาที่มีตำหนิ ไม่สวย หรือสุขภาพจิตไม่ดี นั้น การที่จะเลี้ยงให้เป็นปลาที่สวยงาม สมบูรณ์ คงต้องบอกว่าเป็นไปได้ยากมากๆ จนอาจจะถึงขั้นที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว
ส่วนประการหลัง สภาพแวดล้อมที่ดี คือสภาพแวดล้อมที่มีความสมดุล และเหมาะสมในการเลี้ยงปลา ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ ได้แก่ พื้นที่ในการเลี้ยงปลา ปริมาณแสง อาหาร และที่จะขอเน้นตรงนี้ก็คือการบำบัดน้ำ และการทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงปลามีคุณภาพที่ดีอยู่เสมอนั่นเอง ปัจจุบันนี้ ในกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม ถ้าจะพูดถึงเรื่องระบบกรองน้ำ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไรนักนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าคงมีไม่น้อยเหมือนกันที่ยังไม่เข้าใจ ไม่ทราบถึงความสำคัญของระบบกรองในตู้ปลา มันเป็นยังไงหรือ , มีไว้ทำไม , จำเป็นแค่ไหน , ไม่มีได้ไหม คือคำถามที่ผมมักจะได้ยินเป็นประจำจากคนที่กำลังคิดที่จะเริ่มเลี้ยงปลาสวยงาม เมื่อไปยืนเกาะหน้าตู้ที่ร้านขายปลาแถวๆ บ้าน(ยืนเกาะหน้าตู้ปลานะครับ อย่าไปคิดกันไปไกลละ ^__^?) วันนี้ผมเลยอยากจะหยิบเอาเรื่องนี้ มาลองบอกเล่า นำเสนอให้เพื่อนๆ พี่ๆ ได้ลองอ่านกันดูครับ หวังว่าคงเป็นประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะคนที่กำลังคิดจะเริ่มเลี้ยงปลาสวยงามกัน
ทำไมต้องมีระบบกรอง ในตู้ปลา หรือ สถานที่เลี้ยงปลาของเรานั้น ระบบกรองน้ำ มีเอาไว้เพื่อใช้บำบัดของเสียในน้ำในตู้ปลา ส่วนของเสียในตู้ปลามาจากไหนละ ก็มาจากอาหารที่เหลือในตู้และของเสียจากตัวปลา (เช่นขี้ปลา) นั่นไงครับ นอกจากสิ่งสกปรกที่เห็นเป็นตะกอน เป็นเม็ดฝุ่นลอยกันอยู่ในตู้แล้วนั้น ทั้งอาหารที่เหลือตกค้างในตู้ปลา และของเสียที่ออกจากตัวปลา จะถูกจุลินทรีย์ในน้ำทำการย่อยสลายทำให้กลายเป็นสารพิษสะสมในน้ำ และตัวปลา
ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อตัวปลาทำให้ปลาป่วย และตายได้ครับ สำหรับระบบกรองที่ดี จะทำหน้าที่กรองสิ่งสกปรก และย่อยสลายของเสียเหล่านี้ ทำให้น้ำในตู้มีคุณภาพที่ดี เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของปลา และเมื่อมีระบบกรองที่ดีก็จะช่วยให้ปลาที่รักของเรา ได้อยู่ในตู้น้ำใสๆ กินดีอยู่ดี โตไว สีสวย สมบูรณ์ ลดปัญหาเรื่องปลาป่วยให้เราได้ด้วยครับ
ระบบกรองในตู้ปลา แบบต่างๆ เมื่อรู้ถึงประโยชน์ของระบบกรอง และรู้ว่าทำไมตู้ปลาของเราจะต้องมีระบบกรองกันแล้ว เรามารู้จักระบบกรองแบบต่างๆ ที่นิยมนำมาใช้กับตู้ปลากันดีกว่าครับ ระบบกรองทั่วไป จะแบ่งเป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ กรองกายภาพ , กรองเคมี และกรองชีวภาพ
กรองกายภาพ(Mechanical) คือกรองที่ทำหน้าที่กรองตะกอน ฝุ่น ต่างๆ ทำให้น้ำดูใสขึ้น วัสดุกรองที่นำมาใช้สำหรับกรองกายภาพ ก็อย่างเช่น อุปกรณ์ประเภทใยกรองต่างๆ
กรองเคมี(Chemical) คือกรองที่ทำหน้าที่กรอง ดักจับสารเคมี ที่ไม่ต้องการ เช่น คลอรีน โลหะหนักต่างๆ วัสดุกรองที่นำมาใช้สำหรับกรองเคมี ก็อย่างเช่น คาร์บอน เรซิ่น , ซิโอไลท์ เป็นต้น
กรองชีวภาพ(Biological) คือกรองที่ทำหน้าที่ย่อยสลายของเสีย จำพวก แอมโมเนีย ไนไตรท์ ให้ลดความรุนแรงลง หรือไปอยู่ในรูปที่ไม่เป็นสารพิษ สำหรับกรองชีวภาพ เป็นระบบกรองที่วัสดุกรองไม่ใช่ตัวที่ทำหน้าที่กรองสารพิษ แต่ใช้วัสดุกรองเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ เล็กๆจำพวกแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งทำหน้าที่ ย่อยสลายสารพิษอีกที วัสดุกรองที่นำมาใช้สำหรับกรองชีวภาพ ก็อย่างเช่น หินพัมมีส ปะการัง เซรามิคริงก์ เป็นต้น โดยในระบบกรองแต่ละแบบ อาจจะเป็นระบบกรองประเภทเดียว หรือการผสมผสาน ระบบกรองมากกว่าหนึ่งประเภทก็ได้ครับ
แต่สำหรับตู้ปลาอโรวาน่าและปลาอีกหลายประเภทนั้น ภายในระบบกรองจะนิยมใช้เพียงสองประเภท คือกรองกายภาพ และชีวภาพ ส่วนระบบกรองเคมีนั้น เนื่องจากวัสดุกรองส่วนใหญ่ จะมีข้อจำกัดเรื่องอายุการใช้งานของมัน ซึ่งถ้าหากไม่ทำการเปลี่ยนให้ตรงตามเวลาจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าจึงไม่เป็นที่นิยมนัก เรามาดูระบบกรองแต่ละแบบกันเลยดีกว่านะครับ
แบบที่ 1 กรองพื้นตู้
คิดว่าเป็นระบบกรองที่ได้รับความนิยมใช้กันมากอันดับต้นๆ สำหรับตู้ปลาทั่วๆ ไป โดยเฉพาะตู้ไม้น้ำ แต่สำหรับ ตู้ปลาอโรวาน่านั้น กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น สาเหตุหลักๆ ก็คงเนื่องมาจาก ระบบกรองแบบนี้ จะต้องนำมาใช้ร่วมกับ กรวด หรือหินปูพื้น ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่ามักจะนิยมเลี้ยงปลาในพื้นตู้โล่งมากกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งสกปรกหมักหมมในกรวดพื้นตู้
กรองพื้นตู้
สำหรับกรองพื้นตู้ ต้องใช้ร่วมกันกับ ปั้มลม และหิน หรือกรวดปูพื้น หลักการทำงานของระบบกรองพื้นตู้ คือ ต่อท่อลมเข้าไปในท่อ เพื่อให้ใต้แผ่นกรองเกิดสภาพ สูญญากาศขึ้น และดูดเอาฝุ่นผง สิ่งสกปรกลงไปติดอยู่ที่ชั้นกรวดปูพื้น ในระบบกรองแบบนี้ กรวดทรายบริเวณส่วนบนยังสามารถเป็นที่อยู่ให้แบคทีเรียได้อาศัยย่อยสลายสารพิษได้อีกด้วย
การทำงานของกรองพื้นตู้
ประเภทของกรอง : กรองกายภาพ และ กรองชีวภาพ
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : ได้ทั้งตู้ขนาดเล็ก และตู้ขนาดใหญ่ (ใช้หลายๆ หัว) แต่ไม่นิยมกับการนำไปใช้ในบ่อปลา
การบำรุงรักษา : ต้องมีช่วงเวลาในการล้างทำความสะอาดครับ เช่น 6 เดือนครั้ง หรือปีละครั้ง ซึ่งตอนที่จะล้างต้องเอาหินและปลาออกทั้งหมดครับ เพราะน้ำจะสกปรกมากๆ สิ่งสกปรกที่ถูกดูดเข้าไปทั้งปีจะลอยมาเต็มตู้ไปหมด
ข้อดี : ราคาถูก, หาซื้อง่าย, เป็นกรองที่ให้อากาศในตู้ปลาได้ในตัว, กรองผงฝุ่นสิ่งสกปรกในน้ำได้ดี
ข้อเสีย : บริเวณพื้นตู้จะเป็นที่หมักหมมของสิ่งสกปรกมาก, ล้าง ทำความสะอาดยากครับ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : มีการนำระบบกรองแบบนี้มาใช้กับตู้ปลาอโรวาน่าบ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะต้องใช้ร่วมกับกรวดที่ปูพื้น ซึ่งผู้เลี้ยงหลายท่านคิดว่า ทำให้เกิดของเสียหมักหมม และทำความสะอาดยาก
แบบที่ 2 กรองฟองน้ำ และกรองเหลี่ยม
กรองฟองน้ำ และกรองเหลี่ยม ก็เป็นกรองอีกสองแบบที่มีหลักการ การทำงานคล้ายๆ กรองพื้นตู้ แต่มีการทำให้มีขนาดเล็กลง สะดวกต่อการนำออกมาทำความสะอาดมากกว่ากรองพื้น การใช้งานต้องใช้ร่วมกันกับปั้มลม แต่ไม่ต้องใช้กับกรวดปูพื้นตู้ จึงสามารถใช้กับตู้พื้นโล่งได้ แต่จากขนาดที่เล็กลงจึงทำให้ประสิทธิภาพหลายๆ ส่วนลดลงด้วย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำความสะอาดบ่อย จึงไม่มีที่อยู่ให้แบคทีเรีย คุณสมบัติด้านกรองชีวภาพจึงหมดไป
กรองฟองน้ำ
กรองเหลี่ยม
ประเภทของกรอง : กรองกายภาพ
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : กรองฟองน้ำ และกรองสามเหลี่ยมนั้นไม่มีคุณสมบัติด้าน กรองชีวภาพอยู่ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นกรองเสริม คือใช้ร่วมกับกรองแบบอื่นๆ มากกว่ากรองหลักเดียวๆ แต่ก็มีผู้เลี้ยงปลาบางท่าน นิยมเอาไปใช้กับปลาที่มีความทนต่อสภาพน้ำได้มาก เช่นปลาหมอสี อย่างไรซะแม้ว่าปลาบางชนิดจะทนต่อสภาพน้ำได้มาก แต่สารพิษก็ไม่เป็นผลดีกับตัวปลาอยู่ดีนะครับ
การบำรุงรักษา : เนื่องจากมีขนาดเล็กลงมากจากกรองพื้นตู้ พื้นที่ในการเก็บ ฝุ่น สิ่งสกปรก ในน้ำ จึงน้อยลงมากไปด้วย การทำความสะอาดจึงต้องทำบ่อยมากขึ้น ส่วนจะบ่อยแค่ไหน จุดนี้ขึ้นกับปริมาณ ฝุ่นละออง ในตู้ปลาด้วย บางตู้ของเสียมากๆ อาจจะต้องล้างทุกสัปดาห์ หรือบ่อยกว่านั้น
ข้อดี : ราคาถูก, หาซื้อง่าย, เป็นกรองที่ให้อากาศในตู้ปลาได้ในตัว, กรองผงฝุ่นสิ่งสกปรกในน้ำได้ดี, บำรุงรักษา ทำความสะอาดได้ง่าย
ข้อเสีย : ไม่มีคุณสมบัติด้านกรองชีวภาพ, ต้องทำความสะอาดบ่อย, ประสิทธิภาพ ต่อตัวน้อย, ถ้าไม่ได้รับความดูแล ทำความสะอาดอย่างเพียงพอ จะเป็นแหล่งหมักหมมเชื้อโรค และทำให้ปลาป่วยเอาได้ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : นิยมใช้กรองฟองน้ำเป็นกรองเสริมสำหรับกรองฝุ่น ในน้ำ ควบคู่กันกับกรองหลักประเภทอื่น แต่ต้องเอาออกมาทำความสะอาด ล้างเอาฝุ่นออกบ่อยๆ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการหมักหมมจนทำให้ปลาเป็นโรค อย่างเช่น เกล็ดกร่อน เกล็ดพอง ได้
แบบที่ 3 กรองแขวน กรองแขวน
เป็นกรองที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ มาร่วม คือ ทำงานเสร็จในตัวของมันเอง กรองแขวนเป็นกรองขนาดเล็กที่ ทำงานด้วยไฟฟ้าโดยการทำงานของกรองแขวนจะทำการดูดน้ำจากตู้ปลา เข้ามาในระบบกรอง และปล่อยน้ำผ่านวัสดุกรองและล้นกลับตู้ปลาในช่องน้ำล้นของระบบกรอง โดยวัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ นิยมใช้เป็นวัสดุกรองกายภาพ เช่น พวกใยกรองต่างๆ
กรองแขวน
ประเภทของกรอง : กรองกายภาพ
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : กรองแขวนเป็นระบบกรองขนาดเล็ก จึงเหมาะสมกับตู้ขนาดเล็ก
การบำรุงรักษา : เนื่องจากมีขนาดเล็กลงมากจากกรองพื้นตู้ พื้นที่ในการเก็บ ฝุ่น สิ่งสกปรก ในน้ำ จึงน้อยลงมากไปด้วย การทำความสะอาดจึงต้องทำบ่อยมากขึ้น ส่วนจะบ่อยแค่ไหน จุดนี้ขึ้นกับปริมาณ ฝุ่นละออง ในตู้ปลาด้วย บางตู้ของเสียมากๆ อาจจะต้องล้างทุกสัปดาห์ หรือบ่อยกว่านั้น
ข้อดี : ราคาไม่แพงนัก, ไม่ต้องหาอุปกรณ์อื่นมาช่วยในการใช้งาน
ข้อเสีย : ไม่มีคุณสมบัติด้านกรองชีวภาพ, ต้องทำความสะอาดบ่อย, ประสิทธิภาพ ต่อตัวน้อย
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า: ไม่นิยมใช้สำหรับตู้อโรวาน่า เพราะประสิทธิภาพการทำงานน้อยเกินไป
แบบที่ 4 กรองบน และกรองถัง
เป็นระบบกรองอีกสองแบบที่มีหลักการทำงานคล้ายๆ กัน คือ ใช้ปั้มน้ำดูดเอาน้ำจากตู้ปลา เข้าไปด้านบนของระบบกรอง และปล่อยให้น้ำไหลผ่านผ่านวัสดุกรองต่างๆ ลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก และไหลกลับไปที่ตู้ปลา ตรงช่อง หรือท่อน้ำออกที่ทำเอาไว้ วัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมี และชีวภาพ
ลักษณะกรองบนขนาดเล็ก และขนาดใหญ่
กรองถังและกรองบน
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : กรองทั้งสองแบบ มีหลากหลายขนาดให้เลือก จึงสามารถใช้ได้กับตู้หลายขนาด กรองบน สามารถใช้ได้กับตู้ปลาขนาดเล็ก จนถึงตู้ขนาดใหญ่ ส่วนถังกรองใช้ได้กับตู้ปลาขนาดใหญ่ และนิยมมากในบ่อปลาขนาดเล็ก ถึงบ่อปลาขนาดกลาง
การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ เดือน ถึงหนึ่งปี ขึ้นกับประสิทธิภาพของใยกรองชีวภาพ ขนาดของกรอง และปริมาณของเสียในน้ำ
ข้อดี : ประสิทธิภาพสูง, ราคาไม่สูง, รูปแบบไม่ยาก ไม่ซับซ้อนอะไรมากนัก ผู้เลี้ยงบางคนสามารถทำเองได้
ข้อเสีย : หน้าตาไม่สวย, ต้องวางไว้ด้านบนของตู้ มีสายไฟ และท่อดูเกะกะสายตา, สำหรับกรองขนาดใหญ่จะมีน้ำหนักมาก จึงต้องมี
การทำที่วางที่แข็งแรงพอ, การวางกรองบนไว้บนตู้ปลา เป็นการเพิ่ม ภาระสำหรับกระจก ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้, บำรุงรักษาทำความสะอาดยาก (ต้องปีนขึ้นไปบนตู้), กรองแบบนี้ ต้องควบคุมปริมาณน้ำเผื่อไว้ให้ดีครับ เพราะถ้าไฟดับ หรือปั้มเสีย น้ำอาจจะท่วมตู้ได้ครับ
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : กรองบนขนาดเล็ก สำหรับตู้ปลาอโรวาน่ามีการนำมาใช้เป็นกรองเสริมบ้างแต่ไม่เป็นที่นิยมมากนักแต่สำหรับกรองบนขนาดใหญ่ เป็นที่นิยมกันพอสมควรในต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่ค่อยเห็นใครใช้กัน (จริงๆ ไม่เคยเห็นร้านไหนเอาเข้ามาขาย) ในส่วนกรองถัง นิยมใช้กันมากสำหรับผู้ที่เลี้ยงปลาในบ่อขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แต่ไม่นิยมสำหรับตู้ปลา เนื่องจากปัญหาหลักเรื่องความสวยงาม และที่วางถัง วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองสองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้
แบบที่ 5 กรองนอก
เป็นกรองที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ สำหรับผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่า ที่มีตู้ขนาดประมาณ 60 นิ้ว เนื่องจากกรองแบบนี้จะใช้พื้นที่ในตู้ปลาน้อยมาก และประสิทธิภาพยังอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้ครับ โดยการทำงานของกรองแบบนี้ น้ำจะถูกดูดออกจากตู้ปลาเข้าสู่ถังกรองโดยอาศัยหลักการของกาลักน้ำ เมื่อน้ำเข้าสู่ระบบกรอง จะผ่านวัสดุกรองภายในถังกรองและ ปั้มในถังกรองจะปั้มเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดมาแล้วกลับเข้าสู่ตู้ปลาอีกครั้งวัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมี และชีวภาพ
กรองนอกตู้
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : มีหลากหลายขนาดให้เลือก จึงสามารถใช้ได้กับตู้ขนาดเล็ก จนถึง 72*30*30 แต่เป็นที่นิยมมากในตู้ไม่เกิน 60*30*30
การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ปกติจะนิยมทำกันทุกๆ สัปดาห์ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ 1-2 เดือน ขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ
ข้อดี : ใช้พื้นที่ในตู้ปลาไม่มาก, ดูเป็นสัดส่วน, ไม่เกะกะ, หลายๆ รุ่น มีรูปร่างดูสวยงาม
ข้อเสีย : ประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น ผง ไม่ดีนัก, ใส่วัสดุกรองได้ไม่มาก, ราคาสูง, การบำรุงรักษา ทำความสะอาดยาก, ติดตั้งยาก, ไม่สามารถทำงานกับบ่อ หรือตู้ที่อยู่ระดับเดียวกัน หรือต่ำกว่าถังกรองได้
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : นิยมมากสำหรับตู้ปลาขนาดความยาว 60 นิ้ว เพราะใช้พื้นที่ในตู้ปลาไม่มาก วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้
แบบที่ 6 กรองข้าง, กรองมุม และกรองสามเหลี่ยม (กรองเพชร)
กรองแบบนี้ จะมีทั้งแบบทำขึ้นพร้อมตู้ปลา และเป็นสำเร็จซื้อมาใส่เพิ่มทีหลังได้ แต่จะนิยมแบบทำมาพร้อมตู้ปลามากกว่า หลักการทำงานของกรองแบบนี้ คือ น้ำจะไหลเข้ากรองจากทางช่องรับน้ำ ซึ่งปัจจุบันนิยมทำไว้ทั้งด้านล่าง และด้านบน(ผิวน้ำ) ของตู้ และไหลเข้าระบบกรองผ่านวัสดุกรองลงไปที่ปั้มน้ำด้านล่าง ปั้มจะปั้มเอาน้ำออกจากระบบกรองกลับไปในตู้ วัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมีและชีวภาพ
กรองข้าง
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน ขนาดตู้ที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับตู้ขนาดเล็ก ตั้งแต่ 24 นิ้ว จนถึง 48 นิ้ว สำหรับกรองมุม และได้ถึง 84 นิ้วสำหรับกรองข้างแบบเต็ม
การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ 1-2 เดือน ขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ
ข้อดี : กรองข้างเต็มจะใส่วัสดุกรองได้มากพอสมควร, ราคาไม่แพง, กรองฝุ่นผง ได้ดี, สามารถกรองของเสียจากระดับพื้นตู้ และผิวน้ำ
ข้อเสีย : ต้องติดตั้งอยู่ด้านข้างของตู้ จึงทำให้มุมมองไม่สวยงามนัก, เสียพื้นที่ในตู้พอสมควร, การบำรุงรักษา ทำความสะอาดยาก
เพราะต้องขึ้นไปเอาวัสดุกรองออกมาล้างจากด้านบนของตู้, ทำการดัดแปรง แก้ไข เปลี่ยนระบบยาก เพราะมันจะติดอยู่ที่ตู้, ต้องควบคุมระดับน้ำให้ดี ไม่เช่นนั้น อาจทำให้น้ำในระบบกรองแห้งจนปั้มไหม้ได้
ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : กรองข้างเต็มได้รับความนิยมพอสมควรสำหรับตู้ปลาอโรวาน่าขนาด 72 นิ้ว เพราะมีพื้นที่ด้านข้างพอสำหรับแบ่งไปทำกันกรองได้ 7-8 นิ้ว โดยไม่ทำให้ตู้ดูสั้นเกินไป การทำกรองข้างสำหรับตู้ปลาอโรวาน่านั้น ต้องกำหนดแบบให้ช่างทำตู้ ทำหวีน้ำล้นระดับน้ำให้ต่ำลงมาจากระยะคานตู้ประมาณ 4 นิ้ว เพื่อป้องกันหัวปลาอโรวาน่าชนคาน ขณะกินอาหารบริเวนผิวน้ำ และควรปิดช่องกรองให้มิดชิดอย่าให้ปลากระโดดเข้าไปเป็นปลาตากแห้งในช่องกรองได้ วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองสองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้
แบบที่ 7 กรองล่างหรือกรองใต้ตู้
กรองล่าง
เป็นกรองแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะสำหรับตู้ปลาขนาดใหญ่ ด้วยเพราะว่าจัดเป็นระบบกรองที่มีประสิทธิภาพสูง มีพื้นที่ ที่สามารถใส่วััสดุกรองได้มากสามารถบำบัดของเสียได้ดี และทำความสะอาดง่าย การทำงานของกรองแบบนี้ เริ่มจาก น้ำในตู้ปลาไหลไปหาระบบกรองจากช่องน้ำล้น(ลักษณะเหมือนกรองมุม แต่จะไม่มีชั้นกรอง) ไหลไปที่ระบบกรองที่ส่วนใหญ่นิยมวางไว้ใต้ตู้ และไหลผ่านชั้นของวัสดุกรองต่างๆ จนไปอยู่ที่ตำแหน่งของปั้ม ซึ่งจะทำการปั้มเอาน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว กลับเข้าไปในตู้ปลา วัสดุกรองสำหรับกรองแบบนี้สามารถใช้ได้ทั้งแบบกายภาพ เคมี และชีวภาพกรองล่างแบบหวีน้ำล้นด้านเดียว และสองด้าน
ประเภทของกรอง : ได้ทั้ง กรองกายภาพ, เคมี, ชีวภาพ ขึ้นกับวัสดุกรองภายใน
ขนาดตู้ที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับตู้ขนาดกลาง ตั้งแต่ 48 นิ้ว จนถึงขนาดใหญ่ 144 นิ้ว หรือมากกว่า แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้กับตู้ขนาด 72 นิ้วขึ้นไปมากกว่า การบำรุงรักษา : การทำความสะอาด โดยปกติจะแบ่งเป็นส่วนๆ ขึ้นกับ ประเภทของวัสดุกรอง คือ ส่วนที่เป็นใยกรองกายภาพ ซึ่งจะต้องนำมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ เป็นประจำ ซึ่งความถี่ จะขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ส่วนที่เป็นวัสดุกรองชีวภาพ ต้องนำออกมาล้าง ทำความสะอาด เป็นประจำ ปกติจะต้องล้างทุกๆ 6 เดือน ถึง หนึ่งปี ขึ้นกับปริมาณของเสียในน้ำ
ข้อดี : มีพื้นที่ให้สำหรับวัสดุกรองจำนวนมากจึงมีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำ, ทำการบำรุงรักษา ล้างทำความสะอาดค่อนข้างง่าย เมื่อเทียบกับระบบกรองขนาดใหญ่แบบอื่น
ข้อเสีย : เสียพื้นที่มาก (ใต้ตู้), การติดตั้งระบบต้องใช้งบประมาณสูง, อัตราการระเหยของน้ำจะสูงมาก ต้องควบคุมระดับน้ำให้ดี ไม่เช่นนั้น อาจทำให้น้ำในระบบกรองแห้งจนปั้มไหม้ได้ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : เป็นที่นิยมมากสำหรับตู้ปลาขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 72 นิ้วขึ้นไป สำหรับตู้ที่มีขนาดยาวมากๆ เช่น 120 นิ้ว ขึ้นไป ก็สามารถทำหวีน้ำล้นเป็นสองฝั่งของตู้ได้ กรองล่างสำหรับตู้ปลาอโรวาน่านั้น ต้องกำหนดแบบให้ช่างทำตู้ ทำหวีน้ำล้นระดับน้ำให้ต่ำลงมาจากระยะคานตู้ประมาณ 4 นิ้ว เพื่อป้องกันหัวปลาอโรวาน่าชนคาน ขณะกินอาหารบริเวนผิวน้ำ และควรปิดช่องกรองให้มิดชิด อย่าให้ปลากระโดดเข้าไปในช่องกรองได้ วัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้กับกรองสองแบบนี้ จะไม่นิยมนำวัสดุกรองเคมี มาใช้
แบบที่ 8 เครื่องกรองน้ำ
กรองชนิดนี้ เป็นชุดกรองที่นิยมนำมากรองน้ำ สำหรับน้ำดื่มประจำบ้านทั่วๆ ไป และสำหรับตู้เลี้ยงปลา กรองแบบนี้จะถูกนำมาใช้กรองน้ำที่มาจากแหล่งน้ำ เช่น น้ำประปา หรือน้ำบาดาล ก่อนที่จะนำน้ำไปเข้าตู้ปลา กรองแบบนี้ จะใส่วัสดุกรองประเภท กรองเคมี เข้าไป ตามความต้องการที่จะกำจัดสารพิษ เช่น คาร์บอน เพื่อกรองคลอรีน หรือเรซิ่น เพื่อกรองสารพิษจำพวกโลหะหนัก หรือแก้ปัญหาเรื่องน้ำกระด้าง เป็นต้น กรองแบบนี้ อาจมีชื่อเรียกต่างๆ ออกไป ตามวัตถุประสงค์ หรือตามชนิดของวัสดุกรอง เช่น กรองคลอรีน กรองคาร์บอน กรองเรซิ่น เป็นต้น
เครื่องกรองน้ำ
ประเภทของกรอง : กรองเคมี ขนาดตู้ที่เหมาะสม : สามารถใช้ได้กับตู้ปลา และบ่อทุกขนาด โดยประสิทธิภาพของการกรองสารพิษ จะขึ้นกับขนาดของกรอง และปริมาณของวัสดุกรอง
การบำรุงรักษา : ต้องทำการปล่อยน้ำให้ไหลย้อนระบบ เพื่อเป็นการล้างเอาสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในวัสดุกรองออกเสมอๆ และต้องนำส่วนที่เป็นวัสดุกรองเคมี ต้องนำออกมาเปลี่ยนเป็นประจำตามอายุการใช้งานของวัสดุกรองนั้นๆ ซึ่งปกติจะทำการเปลี่ยน ทุกๆ ปี
ข้อดี : ขจัดปัญหาเรื่องสารพิษ ที่จะมากับน้ำได้ดี
ข้อเสีย : วัสดุกรองเคมี มีอายุการใช้งานของแต่ละชนิด ถ้าไม่ได้รับการดูแลและเปลี่ยนใหม่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจจะเป็นอันตรายกับปลาของเราได้ ข้อแนะนำสำหรับใช้กับตู้อโรวาน่า : นิยมนำกรองคาร์บอน มาใช้เพื่อกรองเอาสารพิษประเภท คลอรีนจากน้ำประปา
ฮ่าๆๆ หมดซะที พิมพ์ซะหน้ามืดเลย ^___^? หากมีข้อมูลผิดพลาด ตกหล่นประการใด ก็ขออภัยมา ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ
TTDC..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น