logo

ณัฏฐ์ โดย Nutt Krait

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

โตช้าไม่ได้หมายความว่าจะไม่โต : ‘Late bloomer’ เติบโตช้าๆ อย่างมีคุณภาพ

ในยุคที่เราเห็นความสำเร็จของคนอื่นได้ง่าย การเปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเองก็เลยเกิดขึ้นได้ง่าย หลายคนแต่งงานมีครอบครัว หลายคนได้งานในบริษัทชื่อดัง หลายคนได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าคนนายคน หลายคนมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตัดภาพมาที่เรา บุคคลที่เพิ่งจะเริ่มงานได้ไม่นาน แถมยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเป็นงานที่ชอบจริงๆ หรือเปล่า

สมัยก่อน ยิ่งอายุมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความกดดันในใช้ชีวิตมากเท่านั้น แต่สมัยนี้แค่อายุ 20 ต้นๆ เราก็ถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้ต้องค้นพบให้ได้ว่า ตัวเองชอบทำอะไร อยากทำอะไร แล้วจะเดินไปเส้นทางไหนต่อ แต่พอเรามืดแปดด้าน หาคำตอบให้คำถามเหล่านั้นไม่ได้ และมี gap year ที่เนิ่นนานจนเกินไป เราจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า และไม่เอาไหนซะเลย
ทั้งที่ลึกๆ เราเชื่อว่าวันนั้นจะต้องมาถึงสักวัน
เพราะเราก็แค่เป็นพวก ‘late bloomer’ เท่านั้นเอง

Late Bloomer ดอกไม้ที่บานช้า แต่บานอย่างสะพรั่ง

เดิมแล้ว คำว่า late bloomer เอาไว้ใช้อธิบายถึงเด็กผู้หญิงที่โตเป็นสาวช้ากว่าคนอื่น อาจจะเป็นในเรื่องของสรีระ หรือการแต่งหน้าแต่งตัว แต่เมื่อถึงวัยที่เธอโตเต็มที่ และเรียนรู้ที่จะแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยตัวเอง เมื่อนั้นเธอกลับสวยจนสะดุดตาใครหลายๆ คนอย่างไม่น่าเชื่อ
จนต่อมาคำนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายถึงคนที่เติบโตช้า แต่เติบโตอย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จในที่สุด เพราะในยุคนี้ early achievement หรือการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ถือเป็นเรื่องที่สังคมมองว่าเท่ และตีไปว่านั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์ ทำให้หลายๆ คนเร่งใช้ชีวิตมากเกินไป เช่น เรียนพิเศษตั้งแต่อายุยังน้อย หรือเรียนจบก็รีบหางานทำเพื่อจะได้มีความมั่นคงไวๆ จึงทำให้คนที่มี gap year หรือเลือกที่จะค้นหาตัวเองไปก่อนถูกมองว่าเป็นคนที่เคว้งคว้างไร้ทิศทาง ไม่เติบโตสักที
แต่จะให้ทุกคนเติบโตพร้อมกันได้อย่างไร?
ในเมื่อวิทยาศาสตร์เองก็ยังบอกเลยว่า 
คนเราจะค้นพบทักษะความสามารถ
ในวัยที่แตกต่างกัน 
บางทักษะเราอาจจะค้นพบในวัย 40 ปี หรือบางทักษะเราก็ค้นพบมันตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ทำให้เห็นข่าวบ่อยๆ ว่าเด็กอายุเพียง 10 ต้นๆ สามารถสอบเทียบเด็กมหาวิทยาลัยหรือพูดได้ถึง 5 ภาษา แต่ในขณะที่อัตราเด็กอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน อัตราการเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นก็ตีคู่มาด้วยเช่นเดียวกัน
“ทุกช่วงอายุ คนเราจะเก่งในบางสิ่งและแย่ในบางอย่าง แต่เราจะคงที่กับเรื่องบางเรื่องในที่สุด ซึ่งมันอาจไม่ใช่ช่วงอายุที่เราคิดว่าเราทำหลายอย่างออกมาได้ดีก็ได้” โจชัว ฮาร์ทชอร์น (Joshua Hartshorne) นักวิจัยจาก MIT กล่าว (อ้างอิงจากวารสาร Psychological Science)
เพราะฉะนั้น late bloomer จึงไม่ใช่คนที่จะกลายเป็นอัจฉริยะ หรือคนที่มีความสามารถในช่วงข้ามวัน แต่พวกเขาจะมีแรงข้างในที่ค่อยๆ กระตุ้นให้เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งแรงกระตุ้นเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่ถ้วยเกียรติยศ หรือรางวัลที่เป็นข้างนอกกาย แต่เป็นความสุขที่ได้เรียนรู้ประสบความสำเร็จมากกว่า และการเรียนรู้อาจจะไม่ใช่ตำราในห้องเรียน หรือคอร์สออนไลน์ในอินเทอร์เน็ต แต่อาจจะเป็นประโยคประโยคหนึ่ง ภาพภาพหนึ่ง หรือเหตุการณ์หนึ่งที่บังเอิญผ่านเข้ามาในชีวิตก็ได้
ยกตัวอย่างเด็กชายคนหนึ่ง เขามีความสนใจในเรื่องของไฟฟ้าและเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยความที่โรงเรียนไม่มีการเรียนการสอนวิชาเหล่านี้ พ่อแม่จึงรู้สึกว่าผลการเรียนของเขาไม่ได้ออกมาดีเลิศสักเท่าไหร่นัก แต่ในเมื่อเขาก็ยังเดินหน้าสนใจเรื่องไฟฟ้าต่อไป จนสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ สุดท้ายเขาก็จะกลายเป็นนายช่างที่มีความสามารถในอนาคต 
เพราะแบบนี้ ผู้ปกครองหลายคนที่กำลังกังวลเรื่องความสามารถของบุตรหลาน ก็อยากให้ลองมองว่าบางทีพวกเขาอาจจะเป็นเพียงดอกไม้ที่ยังไม่งอกงามเต็มที่ ซึ่งเรามีหน้าที่ในการช่วยรดน้ำให้พวกเขา แทนที่จะไปรีบเด็ดออกมาใส่แจกัน หรือกดดันให้กลีบนั้นต้องรีบบานไวๆ

ช้าแต่ชัวร์ อย่ากลัวที่จะใช้เวลา

ริช คาร์ลการ์ด (Rich Karlgaard) นักข่าวชาวอเมริกันและผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Late Bloomers: The Power of Patience in a World Obsessed with Early Achievement’ เชื่อว่า คนที่ใช้เวลาในการประสบความสำเร็จช้ากว่าคนอื่นจะมีข้อดีหรือ ‘จุดแข็ง’ อยู่ 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ความเห็นอกเห็นใจ ความยืดหยุ่น ความเข้าใจ สติปัญญา และความอดทน ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้จะนำเราไปพบกับผู้คนหรือสถานที่ที่เหมาะสมกับตัวเองในที่สุด
แต่กว่าจะได้มาซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ เราอาจจะต้องผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากคนอื่น ซึ่งเส้นทาง หรือวิถีชีวิตที่เราเลือกเดินก็ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ใช้เส้นทางแบบสูตรสำเร็จ อย่างการเรียนจบชั้นมัธยม ก็ไปต่อมหาวิทยาลัย จบไปก็หางานทำ เมื่อมีความมั่นคงทางการเงิน ก็สร้างบ้าน มีลูก มีครอบครัว
เราแค่ลองสำรวจรอบๆ เนินเขา
ที่เรายืนอยู่อย่างแท้จริงเท่านั้นเอง – ริช คาร์ลการ์ด
อย่ากลัวการล้มเลิก หรือลาออกจากอะไรสักอย่าง ถ้าสุดท้ายมันทำให้เราเปลี่ยนไปเดินในเส้นทางที่ถูกต้องมากขึ้น มี self-compassion หรือความเมตตาต่อตัวเองให้มากๆ บางอย่างต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้ อาทิตย์หน้า เดือนหน้า หรือปีหน้า และบางทีเราอาจจะโทษความรู้น้อยหรือความพยายามที่ไม่มากพอสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จนพาลเกลียดสิ่งที่เป็นอยู่ไปซะทั้งหมด แต่วันหนึ่งเราจะเรียนรู้ว่า การใจร้ายกับตัวเองก็ไม่ใช่วิธีที่ทำให้เราประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิมเลย

เหมือนที่เขาว่าผู้หญิงวัย 30 ปีจะเป็นวัยที่สวยสะพรั่งมากที่สุด ราวกับเงาะค่อยๆ ถอดรูป หรือดอกไม้ที่ออกดอกออกผลช้า แต่เมื่อถึงเวลาดอกนั้นจะเบ่งบานอย่างสวยงาม ในขณะที่ดอกอื่นๆ แข่งกันเติบโตจนร่วงโรยไปจนหมดแล้ว ดังนั้น จงเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จ ถึงแม้มันจะหมายความว่า เราอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าคนอื่นก็ตาม


อ้างอิงข้อมูลจาก