logo

ณัฏฐ์ โดย Nutt Krait

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อ่าน ครับอย่าคิดว่ารู้แล้ว เรื่องของการเลี่ยมพระ



ก่อนที่จะสั่งช่างเลี่ยมให้เลี่ยมพระสักองค์ สิ่งที่เจ้าของพระควรจะทำความเข้าใจให้ดีก่อนอีกอย่าง
นั่นคือ รูปแบบของการเลี่ยม

เนื่องจากการเลี่ยมกรอบพระนั้น แม้ดูเผิน ๆ ก็เหมือน ๆ กันหมด
แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีรายละเอียดปลีกย่อยออกไปไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ
ทั้งนี้ นอกจากเพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้ที่ต่างจิตต่างใจ ต่างรสนิยมแล้ว
ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเลี่ยมให้เหมาะสมกับองค์พระ หรือพระเครื่องที่มีรูปแบบมากมายหลายร้อยหลายพันชนิดอีกด้วย
เพราะมิใช่ว่าการเลี่ยมพระแบบเดียวกัน จะช่วยให้พระชนิดทุกพิมพ์สวยเหมือนกันได้หมด
เปรียบไปก็เหมือนกับการสั่งตัดเสื้อผ้าล่ะค่ะ รูปร่างของผู้สวมใส่ที่แตกต่างกันไป
ก็จำเป็นต้องเลือกแบบเสื้อผ้าใช้สมกับผู้สวมใส่ด้วย ทั้งชุดและผู้สวมใส่จึงจะดูดีและไปด้วยกันได้

หลายครั้ง ผู้ที่เคยสั่งเลี่ยมพระมาก่อน อาจพบว่าแบบกรอบพระในความคิดของเรา
กับของจริงที่ช่างเลี่ยมประดิษฐ์ออกมาอาจไม่ตรงกันบ่อย ๆ ใช่ไหมคะ?

ทั้งนี้ หนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอันดับหนึ่ง คือ ลูกค้าไม่รู้จัก "ภาษาช่าง" นั่นเอง

โต๊ะช่างจึงขอใช้โอกาสนี้ แนะนำทุกท่านให้รู้จักกับความรู้และศัพท์เบื้องต้น
รวมถึงรูปแบบของการเลี่ยมพระชนิดต่าง ๆ ให้กับทุก ๆ ท่าน ที่สนใจในการเลี่ยมกรอบพระได้ทราบ
เพื่อที่ในอนาคตอันใกล้นี้ หากท่านต้องการจะเลี่ยมพระสักองค์ให้สวยดั่งใจ
ก็จะได้ใช้สื่อสารกับช่างเลี่ยมพระได้อย่างถูกต้อง และได้ผลงานเลี่ยมออกมาถูกใจที่สุดค่ะ
-----------------------------------------------------------------------------------


จับขอบ VS หลังปิด

ก่อนที่เข้าสู่ชนิดของกรอบพระ มีสองสิ่งที่เราควรทำความรู้จักไว้ก่อนค่ะ นั่นคือ
การเลี่ยมแบบ..."จับขอบ" และ การเลี่ยมแบบ..."หลังปิด"

การเลี่ยมแบบจับขอบก็คือการเลี่ยมที่เปิดให้เห็นทั้งด้านหน้าและทางหลังพระ
ทั้งแบบที่มีพลาสติกใสอยู่ทั้งหน้าและหลัง หรือเปิดโล่งเลยก็ตาม
ที่มาของการเรียกว่า"จับขอบ"นั้น เนื่องจากเมื่อเราพิจารณาดูดี ๆ ก็จะเหมือน
การทำกรอบพระเฉพาะขอบโดยรอบ... "จับ" เฉพาะ "ขอบ" นั่นเองค่ะ
พระเลี่ยมกว่า 90% ที่พวกเราพบนั้น สังเกตุได้ว่าเป็นการเลี่ยมแบบจับขอบเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจากดีตรงที่ว่าสามารถมองเห็นองค์พระได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั่นเอง


ส่วนการเลี่ยมแบบ"หลังปิด"นั้น ชื่อก็บอกตรงตัวเลยล่ะค่ะว่า ปิดข้างหลังด้วย
บางที่จะเรียกกลับคำกันว่า "ปิดหลัง" นั้น ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ความหมายเดียวกันค่ะ
(เช่นเดียวกับที่บางที่เรียก "น้ำปลาพริก" และ "พริกน้ำปลา" นั่นล่ะค่ะ
ไม่ต้องถกเถียงกันให้วุ่นวายว่าใครถูกใครผิด เข้าใจเหมือนกัน เป็นสิ่งเดียวกันก็เป็นอันพอ...)
ทางเทคนิคก็คือ แทนที่แผ่นเงินหรือแผ่นทองที่ปิดด้านหลังจะเป็นเพียงแค่ขอบเล็ก ๆ
ก็กลับกลายเป็นแผ่นเงินแผ่นทองทึบ ปิดด้านหลังองค์พระทั้งหมด
การเลี่ยมแบบปิดหลังนี้เหมาะสำหรับพระเครื่องที่มีด้านหลังองค์พระแบนราบ
และสำหรับการเลี่ยมทอง
เมื่อสั่งเลี่ยมหลังปิดก็จะมีราคาที่สูงขึ้นกว่าการเลี่ยมแบบจับขอบเนื่องจากใช้เนื้อทองที่มากกว่าค่ะ



-------------------------------------------------------------------------------------
รูปแบบของกรอบพระ




1. มาตรฐาน

คือการเลี่ยมกรอบพระโดยทั่วไป ใช้แผ่นเงินแผ่นทองขึ้นเป็นรูปทรงพระและแกะลายเพื่อความสวยงาม
ด้านหลังจะพับปิดแผ่นหลังโดยช่างผู้ชำนาญ ผู้สวมใส่จะไม่สามารถเปิดปิดกรอบชนิดนี้เองได้
ข้อดี คือ ขนาดกรอบจะกระทัดรัด ค่าแรงไม่แพง และใช้เนื้อทองในการเลี่ยมไม่มาก



2. ยกซุ้ม

คือการเลี่ยมกรอบพระแบบที่พิเศษขึ้นมากกว่าการเลี่ยมมาตรฐาน โดยเมื่อขึ้นรูปกรอบพระตามแบบมาตรฐานแล้ว
ช่างเลี่ยมจะเสริมแผ่นเงินแผ่นทองของกรอบพระตรงยอดและฐานด้านหน้าขึ้นมา 2-3 ชั้น
และเลื่อยฉลุเป็นลวดลายต่าง ๆ ได้ตามจินตนาการและความถนัดของช่างเลี่ยมพระแต่ละสำนัก
ส่วนด้านหลังของกรอบจะพับปิดตายเช่นเดียวกันกับกรอบแบบมาตรฐาน
ที่โต๊ะช่าง มีซุ้มให้เลือกอยู่ประมาณ 5 แบบด้วยกัน คือ

2.1 ซุ้มหัวสิงห์
คือแบบซุ้มที่เกือบทุกท่านน่าจะรู้จักและเคยผ่านตางมาบ้าง ถือเป็นแบบยกซุ้มชั้นต้น
ที่ช่างเลี่ยมทุกคนจะต้องเลี่ยมได้ ให้ความสวยแบบคลาสสิก
และได้ความรู้สึกถึงพลังที่น่าเกรงขามแห่งพญาสิงห์


2.2 ซุ้มพิกุล
คือแบบซุ้มที่ดัดแปลงมาจากดอกไม้ไทยเล็ก ๆ ที่สวยเรียบ ทว่าความหอมตราตรึงใจ
ซุ้มพิกุลต้องใช้แผ่นเงินแผ่นทองรวม 3 ชั้นที่ยอดบน นอกจากความแข็งแรงที่ได้รับแล้ว
ยังแฝงเสน่ห์ด้วยเม็ดเกสรกลม ๆ เล็ก ๆ ที่กึ่งกลางกลีบดอกทั้ง 4 อีกด้วย


2.3 ซุ้มดอกบัว
คือซุ้มที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก 2 สิ่งผนวกกัน นั่นคือ
ดอกบัว...ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ที่เหล่าชาวพุทธใช้บูชาองค์พระรัตนตรัย
และหยดน้ำ...ใสสะอาดที่เกาะบนกลีบบัว บางแห่งจึงเรียกซุ้มแบบนี้ว่า "หยดน้ำ"


2.4 ซุ้มพิกุล-สุโขทัย
คือแบบซุ้มที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดอกพิกุล และประยุกต์ศิลปะการเลี่ยมโบราณแบบสุโขทัยผนวกด้วย
จากการเลื่อยฉลุแผ่นเงินแผ่นทองให้เป็นกลีบดอกไม้ ก็กลับกลายเป็นลูกเล่นที่ใช้ขดลวดเงินลวดทอง
เส้นจิ๋ว มาขดเป็นกลีบดอกและไม่ลืมที่จะหยดเกสรเล็ก ๆ อันเป็นเสน่ห์ของดอกพิกุลโบราณ


2.5 ซุ้มบัว-สุโขทัย
คือแบบซุ้มที่ใช้การฝีมืองานเลี่ยมแบบสุโขทัย นำมาประยุกต์ กับงานเลี่ยมภาคกลาง
ใช้ดอกบัวเป็นแบบ จึงได้ผลงานมาเป็นดอกบัวที่เกิดจากการดัดขดลวดเงินลวดทองเส้นน้อย ๆ
ซ้อนด้วยดอกไม้ดัดดอกจิ๋วไว้ตรงกลาง เป็นแบบซุ้มที่หาได้ที่โต๊ะช่างเท่านั้น



3. งานเลี่ยมพิเศษ

คืองานเลี่ยมที่ขึ้นกรอบจากแบบมาตรฐาน
จากนั้นเพิ่มสีสันและลีลาลูกเล่นฝีมือช่างด้วยงานแบบสุโขทัยประยุกต์
ซึ่งผู้ใช้ สามารถเลือกที่จะผสมผสานหลาย ๆ เทคนิคหรือเพียงเทคนิคเดียว
ไว้ในกรอบเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและแบบทรงขององค์พระค่ะ
กรอบแบบนี้มักจะมีลูกเล่นที่ด้านหน้าและด้านข้าง
ส่วนด้านหลังจะพับปิดตายลักษณะเหมือนกรอบมาตรฐาน

3.1 ไข่ปลา
ช่างเลี่ยมพระจะตัดแบ่งท่อนเงินท่อนทองเป็นท่อนเล็ก ๆ เท่า ๆ กัน
จากนั้น ใช้หัวไฟร้อน ๆ เป่าจี้ แต่ละท่อนให้ละลาย และนำส่วนที่ละลายนั้น
มาแต้มเป็นจุดกลม ๆ เล็ก ๆ ตำแหน่งที่ต้องการ รูปร่างคล้ายไข่ปลา
นิยมเรียงไข่ปลาเป็นสายยาว หรือไข่ปลาสลับท่อน


3.2 ลวดเกลียว
ใช้ลวดเงินลวดทองเส้นเล็กจิ๋ว พันเป็นเกลียวคล้ายเชือก นำมาดัดเป็นเส้นสาย
ตามแบบกรอบทรงต่าง ๆ ได้แทบทุกแบบ


3.3 พิกุล
เกิดจากการนำขดลวดเงินลวดทอง ตัดแบ่งท่อนละประมาณ 6-8 วง
จากนั้นดัดให้เป็นม้วนเป็นกลีบดอก เชื่อมปลายทั้งสองเข้าด้วยกัน และแต้มเกสรเล็ก ๆ ตรงกลาง
เป็นวิชาช่างเลี่ยมโบราณที่สืบทอดต่อกันมาจากครูช่างเลี่ยมโบราณหลายยุคหลายสมัย


3.4 หัวหมุน
มีชื่อเรียกต่างกันไปแล้วแต่ท้องถิ่น บ้างเรียก"หัวเม็ดมะยม" บ้างก็เรียก"หัวฟักทอง"
หัวหมุนนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างตัวกรอบและห่วงด้านบน
ลักษณะพิเศษคือสามารถหมุนได้ 180 องศา หรือหมุนได้รอบทิศ แล้วแต่เทคนิค
การติดหัวหมุนจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถแขวนพระเพื่อโชว์ได้ทั้งหน้าและหลัง


3.5 ห่วงจี้
เป็นลูกเล่นที่ช่วยเปลี่ยนจากห่วงกลม ๆ ธรรมดา ๆ ให้น่ามองขึ้น
เป็นงานลูกครึ่งระหว่างช่างเพชร(จิวเวอร์รี่)และช่างเลี่ยมพระ
แบบห่วงจี้ที่นิยมก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ เช่น
ห่วงจี้พิกุล ห่วงจี้หูกระต่าย ห่วงจี้ดอกลิส
3.6 การลงยา

การลงยาสำหรับกรอบพระและตลับพระนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ลงยาร้อน และ ลงยาเย็น

ยาร้อน เป็นก้อนเล็ก ๆ ก่อนใช้ต้องเอามาบดเป็นผง แตะน้ำเล็กน้อย เอาไปป้ายที่จะลงยา
แล้วใช้ไฟเป่า (ด้วยความชำนาญ) สีนั้นจะละลายติดทอง
ยาเย็น คือเซรามิคชนิดหนึ่ง ใช้ป้ายลงไปบริเวณที่จะลงยา แล้วอบด้วย UV ให้แห้ง ก็เป็นอันใช้ได้
แต่ความทนทาน จะสู้ยาร้อนไม่ได้
สำหรับงานเลี่ยมกรอบพระ ที่โต๊ะช่างจะใช้การลงยาร้อนเท่านั้นค่ะ

ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกบริเวณที่จะลงยาได้เป็น 4 แบบด้วยกัน
ลงยา บน-ล่าง

ลงยา เต็มหน้า

ลงยา หน้า-หลัง (เฉพาะงานเลี่ยมตลับ)
ลงยา เต็มใบ (เฉพาะงานเลี่ยมตลับ)



4. ตลับ
ตลับพระ แทบจะเรียกว่าเป็นเครื่องประดับรุ่นแรกที่บรรพบุรุษไทยประดิษฐ์ขึ้นมา
เพื่อบรรจุพระเครื่องและเครื่องรางของขลังต่าง ๆ เลยก็ว่าได้
ตลับใส่พระในสมัยโบราณ ก็จะมีลักษณะเหมือนตลับแท้ ๆ เลยล่ะค่ะ


หากใครนึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงตลับสีผึ้งของคุณย่าคุณยายดู
กล่าวคือ เกิดจากการใช้ฝาเล็ก ๆ 2 ฝาที่สบกันได้สนิท มาประกบเป็นตลับ
จากนั้นจึงเริ่มมีการประยุกต์... เช่น
...ประดิษฐ์หลอดเล็ก ๆ และเดือยที่ช่วยยึดฝาทั้ง 2 น้้นไว้ด้วยกัน
...ใช้ห่วงกลม ๆ มาเชื่อมติดกับตัวตลับเพื่อแขวนพกพา
...และเริ่มมีการเจาะฝาตลับหน้าและหลังเพื่อโชว์องค์พระที่บรรจุอยู่ด้านใน





จนวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของลูกหลานช่างเลี่ยมยุคหลัง ๆ
ตลับพระจึงมีหน้าตารูปร่างดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน




"ตลับพระ" แตกต่างจาก "กรอบพระ" ตรงที่ว่า ผู้ใช้สามารถเปิดปิดตลับได้เอง
เนื่องจากมีการเพิ่มหลอดและเดือยเล็ก ๆ ยึดฝาตลับทั้งสองด้านเอาไว้
การเลี่ยมตลับนี้เหมาะสำหรับหลาย ๆ กรณี เช่น
...พระเครื่อง หรือ พระสมเด็จ บางเนื้อที่จำเป็นต้องปล่อยให้เนื้อพระสัมผัสกับอากาศบ้าง
...พระเครื่องที่เจ้าของหรือผู้ใช้จะต้องส่องดูเนื้อพระบ่อย ๆ
...หรือแม้แต่ด้วยเหตุผลบางประการกรณีที่เจ้าของพระไม่ต้องการให้พระของตน
ต้องเปลี่ยนมือแม้เพียงชั่วคราว

การเลี่ยมตลับพระก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องฝากพระไว้ที่ช่างเลี่ยม
เพียงวาดแบบและขนาดจากองค์พระจริงเอาไว้ ช่างเลี่ยมก็สามารถขึ้นรูปตลับ
ที่สามารถบรรจุพระองค์นั้นได้พอดิบพอดีได้เช่นกัน


5. ตลับพิเศษ (ไข่ปลา ลวดเกลียว พิกุล-สุโขทัย)
เป็นการผนวกการเลี่ยมตลับและการเลี่ยมแบบพิเศษเอาไว้ด้วยกัน
ผู้ใช้จะได้ทั้งความสวยงามไม่ซ้ำแบบใคร จากศิลปะงานเลี่ยมไทยแท้
และความสะดวกในแง่การใช้งานเพราะสามารถเปิดปิดตลับได้ด้วยตนเอง


6. ผ่าหวาย
ผ่าหวายเป็นชื่อเรียกวิธีเลี่ยมพระอีกแบบหนึ่ง
ซึ่งช่างโบราณได้ตั้งชื่อจากลักษณะของกรอบพระที่มีความโค้งยาวไปตลอดเส้น
เหมือนนำเอา "หวาย" (พรรณไม้ชนิดหนึ่งมีลักษณะกลมยาว ลำต้นประกอบด้วยเปลือกเป็นชั้น ๆ )
มาผ่าครึ่งตามแนวยาว จึงเป็นที่ของชื่อเรียกการเลี่ยมชนิดนี้ว่า "ผ่าหวาย"




งานเลี่ยมผ่าหวายเหมาะสำหรับองค์พระที่มีลักษณะ กลม หรือ รี
อย่างไรก็ตามพระที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยมเป็นมุมก็สามารถเลี่ยมแบบผ่าหวายได้เช่นกัน
ขึ้นอยู่กับรูปทรงและความพร้อมของเครื่องมือช่าง
การเลี่ยมผ่าหวายนี้ เจ้าของพระจำเป็นต้องทิ้งพระไว้กับช่างเลี่ยมค่ะ เนื่องจากช่างเลี่ยมต้อง
วัดเหลี่ยมมุมและความโค้งจากองค์พระจริงเท่านั้น มิฉะนั้นจะใส่ไม่พอดี
การเลี่ยมแบบผ่าหวายเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานแบบเรียบ ๆ รูปทรงเปรียว ๆ เกลี้ยงและเงา
อย่างไรก็ตามงานผ่าหวายสามารถสั่งเป็นแบบขัดเงาหรือแกะลายก็ได้แล้วแต่ความชื่นชอบของผู้ใช้

ซึ่งสำหรับโต๊ะช่างแล้ว
ผู้ใช้สามารถเลือกแบบ "หัว" ด้านบนของงานเลี่ยมผ่าหวายได้ 3 แบบ ด้วยกัน

6.1 ผ่าหวาย : ธรรมดา


6.2 ผ่าหวาย : หัวจุกครอบ


6.3 ผ่าหวาย : หัวจุกครอบ & ข้าวหลามตัด



7. ครอบแก้ว

งานเลี่ยมครอบแก้ว เป็นงานเลี่ยมที่พัฒนาจากงานผ่าหวายขึ้นไปอีกขั้น
กล่าวคืองานครอบแก้วจะมีเส้นข้างทั้งสองฝั่งคล้ายผ่าหวาย ทว่าที่ฐานของกรอบ
จะมีพื้นที่สำหรับวางองค์พระ และกรอบครอบแก้วสามารถตั้งบนพื้นเรียบได้
เหมาะสำหรับองค์พระรูปหล่อ และการเลี่ยมที่ผู้ใช้ต้องการโชว์องค์พระโดยเฉพาะ
ซึ่งที่ฐานของครอบแก้ว สามารถเลี่ยมได้ 2 แบบ คือ
7.1 การเลี่ยมฐานครอบแก้วแบบพับปิดตาย
7.2 การเลี่ยมแบบมีหลอดสำหรับใส่เดือย กรณีที่ลูกค้าต้องการถอด-ใส่เองได้


8. ยืดฐาน
เป็นงานเลี่ยมที่หน้าออกลูกครึ่ง ระหว่างงานเลี่ยมยกซุ้มและครอบแก้วค่ะ
มีลักษณะกรอบที่เหมือนกรอบยกซุ้มทว่าที่ฐานของกรอบพระทั้งด้านหน้า
ยืดออกมาจากตัวกรอบ (เป็นที่มาของคำว่า "ยืดฐาน") นิยมแต่งขอบฐานเป็นรูปคล้ายดอกบัว
บางแห่งจึงเรียกการเลี่ยมแบบยืดฐานนี้ว่า "ฐานบัว"
ส่วนด้านหลังกรอบพับปิดตาย เหมือนกรอบมาตรฐาน
เหมาะสำหรับพระรูปหล่อที่มีรูปทรงพื้นที่ฐานยืดออกมามากกว่าปกติ
เช่นรูปหล่อพระที่นั่งขัดสมาธิบางพิมพ์




9. ตะกรุด
งานเลี่ยมตะกรุดมีรูปแบบหลัก ๆ อยู่ 2-3 แบบ
ขึ้นอยู่กับทิศทางการแขวน และจำนวนท่อนค่ะ

ตะกรุดห่วงเดี่ยว สำหรับการแขวนแนวตั้ง
ตะกรุดห่วงคู่ สำหรับการแขวนแนวนอน



ตะกรุด หัวท้าย ประกอบด้วยหัวจุก 2 ชิ้น
ตะกรุด 3 ท่อน ประกอบด้วยหัวจุก 2 ชิ้น และท่อนกลาง 1 ชิ้นซึ่งมีห่วงสำหรับแขวนเครื่องรางอื่น ๆ ได้อีก

ลูกเล่นพิเศษของงานเลี่ยมตะกรุดก็สามารถทำได้คล้ายการยุกซุ้มกรอบพระ
นั่นคือผู้ใช้สามาารถเลือกติดหัวสิงห์ ดอกพิกุล ดอกบัว ฯลฯ ไว้ที่หัวจุกตะกรุดได้ด้วย




10. งานเลี่ยมพิเศษ (กระเช้า สาแหรก ฯลฯ)

ทั้งนี้ เครื่องรางอื่นที่มีรูปร่างเฉพาะตัว เช่น แม่พิมพา งาแกะสลัก กุมาร ลูกกรอก ปลัดขิก ฯลฯ
ผู้ใช้ก็สามารถสั่งเลี่ยมหรือให้ช่างออกแบบการเลี่ยมแบบพิเศษได้
เพื่อให้เหมาะกับรูปทรงและการใช้งาน



-------------------------------------------------------------------------------

นอกจากรูปแบบของกรอบพระที่แตกต่างกันแล้ว
สิ่งที่ควรทราบก่อนการเลี่ยมพระก็คือเรื่องของการ "อัดกันน้ำ"

อัดกันน้ำ 3 ชั้น



คือการอัดพลาสติกกันน้ำที่องค์พระโดยใช้พลาสติกหลัก ๆ 3 ชิ้นด้วยกัน
คือพลาสติกแกนกลางที่ใช้ล็อกองค์พระ และอีกสองชิ้นที่อยู่ด้านหน้าและหลังพระ
นำทั้งพลาสติกสามชิ้นมาวางเรียงกัน 3 แล้วสมานติดด้วยน้ำยา
จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก "อัดกันน้ำ 3 ชั้น"
ปัจจุบันนี้ ช่างเลี่ยมพระที่เลี่ยมได้มาตรฐานและช่างเลี่ยมทอง
จะใช้เทคนิคการอัดกันน้ำ 3 ชั้นทั้งหมด
เนื่องจากจะได้ทรงที่สวยงาม แข็งแรง และกันน้ำได้ 100%

อัดกันน้ำ 2 ชั้น
คือการอัดพลาสติกที่ใช้พลาสติกหลักเพียง 2 ชิ้น คือหน้าและหลังมาประกบกัน
แล้วหยอดน้ำยาสมานพลาสติก วิธีนี้แม้จะไม่แข็งแรง สวยงาม และอาจกันน้ำสู้แบบ 3 ชั้นไม่ได้
แต่ก็เหมาะหรับผู้ใช้ที่ต้องการให้ขอบพระด้านข้างเพรียวบางมาก ๆ
หรือการเลี่ยมกรอบทองคำที่ผู้ใช้ต้องการประหยัดเนื้อทองก็อาจใช้วิธีอัดกันน้ำ 2 ชั้นเหมือนกัน

ไม่อัดกันน้ำ



ยกหน้า-ยกหลัง


คือการสั่งเลี่ยมกรอบพระโดยไม่ต้องการให้มีพลาสติกใสเลย เปิดโล่งทั้งหน้าและหลัง
เหมาะสำหรับพระเครื่องเนื้อโลหะ
หากผู้ใช้ต้องการจะรักษาเนื้อพระไม่ให้สึกจากการเสียดสี เทคนิคยกหน้า-ยกหลัง นี้ก็เหมาะ
ก็คือช่างอัดกันน้ำจะเลื่อยแผ่นพลาสติกให้มีรูปร่างเหมือนขอบหน้าและขอบหลังกรอบพระ 2 ชิ้น
ก่อนที่จะวางองค์พระลงไปในกรอบที่เตรียมไว้ก็ใส่ขอบพลาสติกรองหน้าเสียก่อน 1 ชิ้น
พอวางองค์พระลงไปแล้ว ก่อนที่จะพับปิดหลังก็วางขอบพลาสติกรองหลังลงไปอีก 1 ชิ้น
เมื่อพับหลังเสร็จ องค์พระที่มีความนูนความหนาก็จะอยู่ลึกลงไปในกรอบพระได้
ด้วยเพราะมีพลาสติกรองหน้าและหลังป้องกันอยู่ เป็นการป้องกันพระสึกได้อีกวิธี
บางครั้งผู้ใช้จะสั่ง "ยกหน้า-หลังเรียบ" ก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ
ช่างอัดกันน้ำก็จะรองขอบพลาสติกเพียงชิ้นเดียวด้านหน้าเท่านั้น
ส่วนด้านหลังก็จะเรียบ ๆ องค์พระจะติดกับกรอบพระไปเลยค่ะ



-----------------------------------------------------------------------------------


Q&A Q&A Q&A Q&A Q&A Q&A Q&A Q&A Q&A


Q : ต้องทิ้งพระไว้ไหม?
A : การเลี่ยมพระให้เนี๊ยบและสมกับองค์พระถ้าจะให้ดีต้องทิ้งพระไว้ที่ช่างค่ะ

แต่ในหลาย ๆ กรณี เจ้าของพระไม่ต้องการให้พระอยู่ห่างตัว จึงมักถามว่า
"เลี่ยมพระนี่... ไม่ต้องทิ้งพระไว้ได้ไหม?"
คำตอบก็คือ... มีทั้ง "ได้" และ "ไม่ได้" อยู่ที่รูปแบบของการเลี่ยมค่ะ
@@ เลี่ยมผ่าหวาย กระเช้า สาแหรก @@

ต้องทิ้งพระไว้เท่านั้นค่ะ การเลี่ยมพิเศษแบบนี้หากไม่ทิ้งพระไว้ให้ช่างเลี่ยมวัด
ก็จะไม่สามารถขึ้นตัวเรือนให้พอดีกับองค์พระได้อย่างแน่นอน


@@ เลี่ยมตลับ @@

สบายมากค่ะ การเลี่ยมตลับนี่เป็นทางออกที่ดีมากสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการทิ้งพระไว้ที่ช่าง
ผู้ใช้สามารถวัดขนาดพระ แล้ววาดลงบนกระดาษ ให้ช่างเลี่ยมขึ้นตลับจากแบบวาดได้เลยค่ะ


@@ เลี่ยมกรอบอัดกันน้ำ @@

การเลี่ยมกรอบพระอัดกันน้ำ เป็นการเลี่ยมที่ต้องเน้นที่ขนาดและทรงขององค์พระมาก ๆ
หากเจ้าของพระสามารถฝากพระไว้ที่ช่างเลี่ยมได้ก็ไม่มีปัญหาค่ะ
แต่หากไม่ต้องการฝากพระไว้ ก็มีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ

วิธีแรก ให้ช่างเลี่ยมเปิดพิมพ์บล็อกเอาไว้ วิธีนี้ช่างเลี่ยมจะนำพระองค์จริงมาวัดขนาดพระรวมถึงความหนา
และเปิดแม่พิมพ์ไม้เอาไว้ ผู้สั่งเลี่ยมรอเปิดบล็อกประมาณ 30 นาที เสร็จแล้วสามารถนำพระกลับบ้านได้
ช่างเลี่ยมจะขึ้นกรอบโดยอิงจากแม่พิมพ์นั้น
เมื่อช่างเลี่ยมกรอบพระเสร็จ ผู้สั่งเลี่ยมค่อยก็นำพระมาให้ช่างอัดกันน้ำใส่กรอบอีกครั้ง
ซึ่งระยะเวลาอัดกันน้ำและใส่กรอบก็อยู่ที่ประมาณ 45 นาที ไปจนถึงชั่วโมงกว่า ๆ
แล้วแต่ขนาด รูปทรงพระ และฝีมือช่างค่ะ



วิธีที่สอง วัดขนาดพระ วาดใส่กระดาษเอาไว้
ซึ่งช่างจะขึ้นกรอบตามแบบที่วาด โดยเผื่อขนาดความกว้างและความหนาไว้เล็กน้อย
หลังจากนั้นเมื่อช่างเลี่ยมกรอบพระเสร็จ ผู้สั่งเลี่ยมก็นำพระมาอัดกันน้ำและใส่กรอบเหมือนวิธีแรก
แต่อาจใช้เวลานานกว่าสักเล็กน้อย เนื่องจากต้องรวมเวลาเปิดพิมพ์เข้าไปด้วยค่ะ
วิธีที่สองนี้ แม้กรอบพระที่ได้ขนาดและรูปทรงอาจไม่พอดิบพอดีเท่าการเปิดบล็อก
แต่ก็สะดวกในหลาย ๆ กรณี เช่น ไม่สามารถพกพระมาได้
หรือการสั่งเลี่ยมกรอบพระ กรณีที่ผู้สั่งเลี่ยมอยู่ไกลหรืออยู่ต่างจังหวัด
ก็สามารถวัดขนาดพระและแฟกซ์ส่งมาก่อนได้ค่ะ

วิธีการวัดขนาดพระ วาดลงกระดาษ :


ให้วาดพระโดยทาบพระลงกระดาษ 3 มุม คือ

1. ด้านหน้า : วาดตามทรงให้ชิดหรือใกล้เคียงองค์พระที่สุด
หากเป็นพระรูปลอย ให้คว่ำหน้าพระลง และวาดตาม จะได้ขนาดที่ใกล้เคียงที่สุด


2. ด้านข้าง : จับพระหันข้าง แล้วลากเส้นให้แนบองค์พระทั้งสองฝั่งหน้า-หลัง
เน้นจุดที่หนา(หรือ)นูนที่สุดขององค์พระ


3. ฐาน : หากเป็นพระมีฐาน ให้วางฐานพระบนกระดาษ และวาดเส้นตามรูปฐานพระ





Q : "ค่าซิ" คืออะไร?
A : สำหรับช่างทองทุกแขนง เมื่อเวลาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาแต่ละชิ้น
ทุก ๆ ขึ้นตอนตั้งแต่ต้นสายยันผลงานออกมา เช่น การหลอมทอง การรีดทอง
การเป่าไฟ เลื่อยลาย ตะไบแต่ง แม้แต่การพับหลังกรอบพระนั้น
ล้วนมีละอองทองที่สูญหายไปเสมอ ๆ

อธิบายอีกอย่างได้ว่า สมมติว่าเรามีทองดิบ 1 บาท ก่อนขึ้นตัวเรือน
เมื่อผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ จนได้เป็นตัวเรือน 1 ชิ้น
เมื่อชั่งน้ำหนักตัวเรือนกับเศษทองที่เหลือรวมกันแล้ว
จะหนักไม่ถึง 1 บาท เท่ากับทองดิบเมื่อตอนตั้งต้นหรอกค่ะ



หากช่างทองคิดราคางานทองเฉพาะน้ำหนักผลผลิตเพียว ๆ แล้วล่ะก็...
"ขาดทุน" แน่นอนไม่มีอื่นเลยค่ะ
แล้วถ้าทำไปขาดทุนไป ช่างทองเลี้ยงชีพตนไม่ได้แน่นอน
ดังนั้นช่างทองตั้งแต่ยุคโบราณมาจนปัจจุบันนี้จึงต้องมี "ค่าซิ"
หรือ "ค่าชดเชยทองสูญ" ที่ขาดหายไปในกระบวนการผลิต นำมาคำนวณเป็นต้นทุนด้วยทุกครั้ง
บางแห่งเรียก "ค่าซิ" บ้างก็ "ค่าขาด" ล้วนสื่อความหมายเดียวกันค่ะ