logo

ณัฏฐ์ โดย Nutt Krait

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

พระของขวัญ วัดปากน้ำ รุ่น 1-3


        พระวัดปากน้ำรุ่น 1-3 ชื่อว่า “พระของขวัญ” ในวงการพระเครื่อง นิยมเรียกว่า “รุ่นแรก” เพราะรูปทรงและพิมพ์ที่ใช้คือแม่พิมพ์เดียวกันหมด เป็นพระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากะทัดรัดสวยงามน่ารัก หลวงพ่อสดท่านทำขึ้นมาเพื่อสมนาคุณแด่ผู้บริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่วัดปากน้ำในสมัยที่หลวงพ่อสด เป็นเจ้าอาวาสอยู่

        พระรุ่น 1 นั้นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2493 จำนวน 84,000 องค์ ทำบุญ 25บาท เป็นอย่างน้อย (อย่างมากเท่าใดก็ได้) จะได้รับพระจากหลวงพ่อสด 1 องค์ จะบริจาค พัน หมื่น แสน ก็ได้เพียงองค์เดียว เพราะหลวงพ่อสดท่านยึดถือว่า พระมีราคามากกว่าเงิน พระวัดปากน้ำไม่มีการแจกฟรี!

        การทำพิธีเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระวัดปากน้ำ ไม่เหมือนที่อื่นๆ ไม่มีการเชิญเหล่าท่านคณาจารย์มาร่วมทำพิธี แต่อาศัยบุคคลในวัดที่ได้วิชชาธรรมกายของหลวงพ่อเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นฆราวาส ภิกษุ ก็ตามแต่ มีข้อบังคับคือต้องเป็นคนของวัดเท่านั้น เมื่อสร้างแล้วก็ทยอยทำพิธี เป็นต้นว่า พระที่เสร็จแล้ว 100 องค์ก็ทำพิธี แล้วก็นำออกแจก 100 องค์ ต่อมาเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำมาทำพิธีแล้วทยอยแจก ลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่
 
พระของขวัญรุ่น 1
 

        ทำพิธีด้วยวิชชาธรรมากยนานถึง 4 เดือน เพราะอยู่ในช่วงของการเข้าพรรษาพอดี ทำพิธีไปแจกไปนั้น หมดที่องค์สุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2495 พระรุ่น 1 นี้ความสวยงามของพระนั้นเป็นที่นิยมในหมู่คุณแม่บ้าน และสาวๆ ทั่วไปที่ทำมาค้าขาย

พระของขวัญรุ่น 2
 
 
 

        เมื่อพระรุ่น 1 ได้แจกไปนั้น เมื่อเด็กๆ และคุณแม่บ้านนำไปคล้องกัน เมื่อเวลาอาบน้ำแล้วเกิดเนื้อของพระเปื่อยยุ่ยฟองฟูขึ้น จึงนำเรื่องนี้มาเล่าให้หลวงพ่อสดท่านทราบ จากนั้นหลวงพ่อสดจึงแก้ปัญหาโดยนำน้ำมันตั้งอิ๊วมาทาที่องค์พระเพื่อกันเปื่อยยุ่ยฟองฟู แล้วนำแจก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่ารุ่น 2 แท้ที่จริงก็คือรุ่น 1 นั่นแหล่ะ ในวงการฯ จึงได้ตัดสินว่าให้เรียก รุ่น 1-2 เป็นรุ่นแรก
 
พระของขวัญรุ่น 3
 
 

        พระรุ่น 3 นี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2499 จำนวน 84,000องค์ พระรุ่น 3 แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ใหญ่ๆ คือ พิมพ์ตื้นและพิมพ์ลึก พระพิมพ์ตื้น เป็นแม่พิมพ์ที่เคยกดพระรุ่น 1  มาก่อน และพิมพ์นี้สร้างก่อนพิมพ์ลึก แม่พิมพ์ตื้นนี้ดังที่กล่าวมาในขั้นต้นว่าเคยใช้กดรุ่น 1 มาก่อน ท่านเก็บแม่พิมพ์ไว้แล้วนำมากดรุ่น 3 เนื่องจากเก็บเอาไว้นาน ฝุ่นเกาะและมีคราบน้ำมันอยู่หนาแน่นมาก ประกอบด้วยหลวงพ่อสดท่านได้ปรับปรุงสูตรเพื่อกันพระเปื่อยยุ่ย โดยการใส่น้ำมันตั้งอิ๊ว
 
 

        หลังจากที่กดพิมพ์ตื้นได้จำนวนหนึ่ง ด้วยความเก่าแก่ของแม่พิมพ์เกิดหักชำรุด เณรที่ทำหน้าที่กดจึงมาเรียนต่อหลวงพ่อสด จากนั้นหลวงพ่อจึงสั่งให้แกะพิมพ์ใหม่ ไม่ให้จำเจแบบของเก่า และนี้ก็เป็นปฐมเหตุที่เกิดพิมพ์ลึกขึ้นมานั่นเอง จากหลักฐานของวัด พระรุ่น 3 ได้แจกหมดไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2514 คือหลังจากหลวงพ่อสดมรณภาพไปแล้วนั่นเอง และสรุปได้ว่า พระวัดปากน้ำที่หลวงพ่อสดท่านสร้างและทำพิธี มีเพียง 3 รุ่น คือ 1, 2 และ 3 เท่านั้น เพราะแจกพระรุ่น 2 ได้เพียง 2 ปีกว่า หลวงพ่อท่านก็มรณภาพลงใน พ.ศ.2502 เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระวัดปากน้ำรุ่น 1 ถึงรุ่น 3 ชื่อ“พระของขวัญ” ส่วนรุ่น 4 ชื่อ “พระธรรมขันธ์” รุ่น 5 เรียก “พระธรรมกาย” ส่วนรุ่น 6 ชื่อ “พระไตรปิฎกหินอ่อน” ได้พิมพ์ปฐมฤกษ์ เมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ.2532 ซึ่งทำแจกแด่ผู้ที่สมทบทุนบริจาคทรัพย์สร้างพระไตรปิฎกหินอ่อน, พระมหาวิหารและพระมหาเจดีย์ ผู้ใดที่มีพระรุ่นนี้ หากตกที่นั่งลำบากให้เพ่งไปที่องค์พระจนติดตาแล้วอาราธนาขอพรให้คุ้มครองพร้อมกับภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง” แล้วความปาฏิหาริย์จะบังเกิดขึ้น
 
ส่วนผสมมวลสารของพระวัดปากน้ำรุ่นแรกเท่าที่มีดังนี้

ปูนขาว จากเปลือกหอยทะเล
ดอกไม้บูชาพระ เมื่อแห้งนำมาบดให้ละเอียด
กล้วยน้ำว้า
เส้นเกศาของหลวงพ่อสดที่ปลงเก็บเอาไว้
ผงวิเศษที่หลวงพ่อสดจัดทำขึ้นเอง
น้ำมันตั้งอิ๊ว

        ตามประวัติพระรุ่นแรกใส่ผงวิเศษและเกษรดอกไม้มากเกินไป พระจึงเป็นเนื้อเปื่อยยุ่ยเมื่อโดนน้ำ ระบบการกดพิมพ์ยังใช้การกดแบบแรงมือมิใช่ใช้แบบกระเดื่องอย่างในปัจจุบันนี้

        เม็ดสีขาวขุ่น เข้าใจว่าเป็นเม็ดของปูนขาวที่มีขนาดเล็กๆ รอดหลุดลงไป ส่วนเม็ดสีขาวใสอมเหลือง คาดว่าคงจะเป็นเม็ดของข้าวสุกตากแห้งบดละเอียดผสมใส่ลงไป จุดสีดำเล็กๆ และสีน้ำตาลนั้นทั้งอ่อนและแก่ เข้าใจว่าคงจะเป็นดอกไม้แห้งบดละเอียดผสมลงไปซึ่งมีทั้งดอกและใบรวมถึงก้านช่อ

        ข้อสังเกตอีกประการในการดูพระวัดปากน้ำรุ่นแรกโดยทั่วไปคือการทรุดตัวที่มุมขอบด้านบน และบางองค์พบว่ามีรอยของมีคมสับลึกทั้งด้านซ้ายและขวา ลักษณะโดยทั่วไปเป็นพระปางสมาธิ(Meditation) “ปฐมเทศนา” หรือบางท่านเรียกกันว่า “ปางดีดน้ำมนต์” มีฐานบัวหงาย-คว่ำ 2 ชั้น ด้านหลังมีอักขระขอมกดลึกลงไปอ่านได้ความว่า “พระธรรมขันธ์” หมายถึง 1 องค์ เท่ากับ 1 พระธรรมขันธ์ มีจำนวน 84,000 องค์ ขนาดองค์พระกว้างประมาณ 1.5 ซม. ส่วนสูง 2.2 ซม. ความหนาอยู่ในระหว่าง 4-7 มม. เนื้อพระสีขาวที่เรียกกันว่า “เนื้อปูนปั้น” คือมีปูนขาวจากเปลือกหอยทะเล และส่วนผสมอื่นๆ อีก แต่น้อยกว่า “ปูนขาว”
 
พระรุ่น 1 นั้นทำไมแบ่งออกเป็นหลายๆ ใน 1 รุ่น ?
 
        ในยุคที่หลวงพ่อสดยังอยู่ท่านให้บูชาคนละองค์เดียว อย่างที่เรียนให้ทราบไปแล้ว หลังจากที่หลวงพ่อสดท่านมรณภาพไปนั้นก็ได้เปลี่ยนกติกาใหม่ โดยให้พระและชีนำพระของขวัญที่เหลือออกจำหน่าย โดยที่โยมๆ ต้องบริจาคทรัพย์ทอดกฐินหรือผ้าป่า ตามวงเงินที่กำหนดไว้
พระรุ่นลองพิมพ์

 
 
        การที่เกิดรุ่นนี้ก็เพราะในครั้งแรกๆ หลวงพ่อสดได้ให้ลงมือกดพระแล้วลองดูซิว่ามีความสวยงามขนาดไหน ผู้ที่จะมีพระรุ่นนี้ส่วนมากจะเป็นพระที่บวชอยู่ที่วัดปากน้ำนี้เป็นส่วนมาก
พระรุ่นตกค้าง

 
        พระรุ่นตกค้างนี้คือพระที่สร้างพร้อมๆ รุ่น 1 และ 2 ผ่านการทำพิธีแล้วแต่ไม่นำเอาออกมาทำพิธี เพราะลักษณะของพระนั้นไม่สวยงาม บิดเบี้ยว บิ่นเป็นกระเทาะบ้าง หลวงพ่อสดท่านสั่งให้แยกเก็บเอาไว้ แล้วเก็บเอาไว้ในกุฏิของท่าน ล้วนแต่เป็นพระที่ยังไม่ได้จุ่มแชแล๊คทั้งหมด จนกระทั่งหลวงพ่อสดมรณภาพไปแล้ว เมื่อทำการเก็บของท่าน จึงได้พบพระจำนวนนี้ หลังจากนั้นทางวัดจึงนำออกมาให้บูชาเพื่อนำเงินมาบูรณะวัด เพราะขณะนั้นพระรุ่น 1-2 หมดลงเสียแล้วหลายปี ดังนั้นจึงเรียกพระรุ่นนี้ว่า “พระวัดปากน้ำ รุ่นตกค้าง” แท้จริง ก็คือรุ่น 1-2 นั้นเอง ลักษณะก็คล้ายรุ่น 1-2 ไม่ผิดเพี้ยน

        หากจะถามว่าแล้วพระรุ่น 3 ไม่มีตกค้างบ้างเลยหรือ มีเหมือนกัน แต่ทางวัดได้นำเก็บเอามาผสมในรุ่น 4 หมดแล้ว โดยปฏิบัติเป็นลูกโซ่ อาทิเช่น นำพระรุ่น 1 ที่ชำรุดมาตำแล้วผสมกันเป็นรุ่น 2 ล้างพระรุ่น 2 ที่ชำรุดที่นำมารวมกับพระรุ่น 3 ปฏิบัติเช่นนี้ตลอด
 
 

ไม่มีความคิดเห็น: