logo

ณัฏฐ์ โดย Nutt Krait

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561

วิธีดูรุ่นเต่า รุ่นต่างๆ VW 1949 - 1990 all model


วิธีดูรุ่นเต่า
Beetle ปี 1949

รถรุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่มีระบบมอเตอร์สตาร์ แต่เดิมใช้วิธี มือหมุน แบบรถโบราณ และเพิ่มสายดึงสำหรับ เปิดกระโปรงหน้า แทนการไปกดปุ่ม ที่หน้ากระโปรงอย่างเดียว กระจกด้านหลังจะเป็นแบบ 2 จอ

 
Beetle ปี 1950

รุ่นนี้รูปทรงไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนที่เพิ่มคือเปลี่ยน ระบบเบรค จากใช้สายเคเบิ้ลดึงเอามาเป็นระบบไฮโดรอลิค และ ในห้องโดยสารเพิ่ม ช่องเขี่ยบุหรี่ บริเวณแผงหน้าปัด แล้วที่ท่อไอดีของเครื่องยนต์ จะมีระบบหล่อให้อุ่น จากท่อไอร้อน ซึ่งเหมาะสำหรับเมืองหนาว



Beetle ปี 1951

เพิ่มตราโล่ปราสาทแดง สัญญลักษณ์ที่บริเวณกระโปรงหน้า

 
Beetle ปี 1952

- กะทะล้อจากขอบ 16 นิ้ว มาเป็น 15 นิ้ว
- กระจกด้านข้าง ด้านประตูหน้าทั้งสอง มีกระจกหูช้าง 3 เหลี่ยม ระบายลม
- ที่เปิดตรงกระโปรงท้าย เปลี่ยนเป็น รูปตัว T
- ช่องเก็บของบนแผงหน้าปัด มีฝาปิด (แต่เดิม เปิดโล่ง)

Beetle ปี 1953

กระจกบังลมหลัง
เปลี่ยนจาก 2 จอ เป็น จอเดียว แต่ยังแคบเหมือนเดิม จึงเรียกกันว่า รุ่น จอแคบ





Beetle ปี 1954

เครื่อง จาก 1,100 cc. เพิ่มเป็น 1,200 cc.
แรงม้า จาก 35 แรงม้า มาเป็น 36 แรงม้า
รวม กุญแจสตาร์ท กับ กุญแจสวิสท์ ให้มาอยู่เป็นที่เป็นทางตัวเดียวกัน


Beetle ปี 1955
เปลี่ยนไฟเลี้ยวแบบแขนยก รุ่นติดข้างตัวรถ มาเป็น ดวงโคมเล็กๆ อยู่หน้ารถ แต่ติดตั้งไว้ต่ำใกล้กับขอบบังโคลน ล้อหน้าของรถ



Beetle ปี 1956
เพิ่มท่อไอเสียโครเมี่ยมคู่ แล้วเบาะนั่งปรับเปลี่ยนให้สะดวกขึ้น



Beetle ปี 1957

ไฟเลี้ยวเคยติดอยู่ต่ำ กระโดดขึ้นมาบนบังโคลนล้อหน้า แบบที่เห็นในปัจจุบันทำให้มองเห็นง่าย



Beetle ปี 1958

ระบบคลัชท์ปรับปรุงให้ดีขึ้น
ระบบเบรคทำดุมเบรคให้กว้างมากขึ้น

 

Beetle ปี 1959
เครื่องยนต์ออกแบบให้มีความคงทนมากยิ่งขึ้น โดย 100,000 กม. ไม่ต้องยกเครื่อง



Beetle ปี 1960

พวงมาลัย
ทำเป็นเบ้าลึกเข้า เพื่อการจับจะได้ถนัดมากขึ้น
ที่เปิดประตู ทำเป็นปุ่มกดเปิด
ช่วงล่าง ติดเหล็กกันโคลงล้อหน้า เพื่อให้เกาะถนนดียิ่งขึ้น
ระบบบังคับเลี้ยว ตรงพวงมาลัย เพิ่มโช้คอัพ (Steering Damper) กันพวงมาลัยสั่น
ไดนาโม จาก 160 Watts เป็น 180 Watts
รุ่นสุดท้ายสำหรับเครื่องยนต์ 36 แรงม้า



Beetle ปี 1961
เครื่องยนต์เปลี่ยนจาก 36 แรงม้า มาเป็น 40 แรงม้า วิธีสังเกตเครื่องยนต์รุ่นใหม่ จะสังเกตได้ตรงแท่นรองไดนาโมชารท์ จะเป็นคนละชิ้นกับตัวเครื่อง ยึดด้วยน๊อต 4 ตัว แต่รุ่นก่อนจะเป็นตัวชิ้นเดียวกับตัวเครื่อง แต่การผลิตเครื่องยนต์รุ่นนี้ คงเป็นการเริ่มต้นมีข้อบกพร่องให้จุกจิก กวนใจมาก เช่น เรื่องวาล์ว ห้องเกียร์ไม่คงทน แต่สิ่งที่เพิ่ม ก็ คือ ปุ่มฉีดน้ำล้างกระจก เนื้อทีใส่ของกว้างมากขึ้น ระบบกุญแจสตาร์ท มีระบบล๊อคกันสตาร์ทซ้ำ แต่รวมๆ แล้วรวนมาก หากจะใช้รุ่นนี้ อาจต้องเปลี่ยนเครื่อง เปลี่ยนเกียร์ใหม่



Beetle ปี 1962
มีการแก้ไขข้อบกพร่องไปบ้าง แต่ก็ยังไม่หมดทันทีในครั้งแรก โดยเฉพาะห้องเกียร์ซิโครเมท มาแก้ตกเอาตั้งแต่หมายเลข Classis 4 500 000 จะเล่นรุ่นนี้ก็ดูหมายเลขกันให้ดี ยกเว้นเจ้าของเดิมเปลี่ยนหมดแล้ว สิ่งที่มีใหม่ในรุ่นนี้ ระบบฉีดน้ำแบบอัดลม โดยใช้ลมจากยางอะไหล่ที่วางไว้ตรงกระโปรงหน้า ระบบเฟืองเกียร์พวงมาลัยเปลี่ยนเป็นแบบ Worm and Roller ฝากระโปรงหน้าเสริมสปริง มีเกย์วัดน้ำมัน มาแทน ระบบ ถังน้ำมันอะไหล่



Beetle ปี 1963
มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุหุ้มเบาะตอนกลางปี เป็นแบบใหม่ ทำความสะอาดง่าย กระจกหน้าตาทำได้ดี โดยรางกระจกมีไนรอนมารองรับ มีระบบไออุ่น มาจากห้องเครื่องยนต์ ตรงพัดลมต่อท่อมาหล่อห้องโดยสาร แก้ความหนาว พื้นรถมีการบุด้วยกระดาษน้ำมัน ทำให้เสียงภายในห้องโดยสารเงียบขึ้น



Beetle ปี 1964
แตรพวงมาลัย จากรูปครึ่งวงกลม มาเป็น ก้านตรง เปลี่ยนวัสดุหุ้มเบาะใหม่ ดีขึ้น สำหรับรุ่นหลังคาเปิดแบบผ้าใบ ก็ เปลี่ยนเป็นหลาคาเปิดแบบเหล็ก ไฟส่องป้ายทะเบียนหลังเปลี่ยน จาก ทรงจมูกคน เป็นแบบรีๆกว้างๆขึ้น



Beetle ปี 1965
รถตั้งแต่รุ่นนี้มีการเปลี่ยนเแปลงระบบเลข Classis ใหม่ ทำให้ดูรง่าย โดยดูจาก 3 ตัวหน้าของเลข Classis เลข 2 ตัวหน้า 11 หมายถึง รถเต่า 12 หมายถึง รถโฟลคตู้ 13 หมายถึง รถรุ่น 1500 แบบท้ายลาด ตรวจการ หรือ เต่า Super Star เลขหลักที่3 ของ 3 ตัวหน้า หมายถึงปี เช่น 115 ก็รถเต่า ปี 1965 6 ก็ 1966 7 ก็ 1967 ยัน รุ่นสุดท้าย กระจกบังลมหน้าปรับเปลี่ยนให้กว้างขึ้น ที่ปัดน้ำฝน เป็นแบบมีสปริงโค้งให้ยืดหยุ่น ปัดได้ดีกว่าเก่า ทีบังแดด ทำให้ดียิ่งขึ้นสะดวกต่อการใช้งาน ทีเปิดปิด กระโปรงหลังเป็นแบบกดปุ่ม แทนการหมุน



Beetle ปี 1966
เป็นปีแรกที่เครื่องยนต์ 1300 ซีซี มาคู่กับ 1200 ซีซี เดิม ทำให้รุ่น 1300 ซีซี มีแรงม้า เป็น 50 โดยรุ่นนี้ ช่วงชักของกระบอกสูบจะยาวกว่า เครื่องยนต์ 1200 แล้วก็ตรงลูกสูบติด ชาฟ ที่ราวลิ้น เพิ่มรุ่นนี้สามารถโมดิฟราย จาก 1300 มาเป็น 1500 หรือ 1600 ซีซี สบายมาก แค่เปลี่ยน ลูกสูบ เสื้อสูบ และไปกว้านฝาสูบ (ข้อดี ของเครื่องยนต์รถโฟลค ก็คือ ทุกครั้งที่มีการยกเครื่อง จะได้เครื่องกลับมาเป็น Standard เพราะมันเปลี่ยนทั้งเสื้อ สูบ กระบอกสูบ แหวน โดยยกขายเป็นชุด เหมือนได้ เครื่องใหม่จากห้าง ตอนออกรถใหม่ๆ แล้วราคาไม่แพง นอกจากนั้น รุ่นนี้ได้ย้ายตัว Regulator จากในห้องเครื่อง มาไว้ใต้เบาะ แถมเปลี่ยนจากระบบธรรมดามาเป็นระบบควบคุมด้วย Transistor เพิ่มไฟ Hazan แล้วก็ ปุ่มกดเปลี่ยนไฟ สูงไฟต่ำ จากเป็นปุ่มอยู่ที่พื้นด้วยเท้ามาเป็ มาอยู่ที่ก้านโยกตรงพวงมาลัย สวิสท์แตรตรงพวงมาลัย กลับไปใช้แบบของเดิม รูปครึ่งวงกลม



Beetle ปี 1967
ปีนี้เป็นการปฏิวัติระบบไฟฟ้า ใหม่ โดยเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้า แบบ 6 โวลท์ มาเป็นระบบ 12โวลท์ ทำให้ ไฟสว่างมากยิ่งขึ้น การสตาร์ท ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งแต่เดิมเคยสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า ให้กับผู้ใช้ โฟค ก็ คือหาแตตารี่ ขนาด6 โวลท์ แอมป์สูงๆยาก ทำให้ รถรุ่นเก่าๆ ก็ไปปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าตามกันยกใหญ๋ สิ่งที่แต่ต่าง ในระบบ ไฟฟ้า 6 กับ 12 ก็คือ Fly Wheel รุ่น 6โวลท์ 109 ซี่ แต่ 12 โวลท์ 130 ซี่ ในขณะเดียวกันก็ออก เครื่องรุ่น 1500 ซีซี ขนาด 53 แรงม้ามาให้ เลือกอีกแบบ หนึ่ง แล้วก็ เปลี่ยนแปลง ระบบช่วงล่าง ของล้อหลัง ทำให้ออ่อนลงหน่อย เพื่อความนุ่มนวล แล้ว ติด คานรูปตัว Z เข้าไปทำให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น



Beetle ปี 1968
เป็นปีแรก ที่โฟลคออก รุ่นเกียร์ออโต้เมติก มาให้เลือกอีกแบบ หนึ่ง แล้วก็ออก รุ่นประหยัด 1200 ซีซี มาให้เลือกด้วย นัย ว่าเพื่อสนองนโยบาย ลดค่าครองชีพ โดยรุ่นนี้ ตัดเอา คิ้วโคเมียม ออก ในขณะเดียวกัน รุ่น 1300 และ 1500 ยังเหมือนเดิม เฉพาะ1500 เท่านั้นที่มีระบเกียร์ออโต้ฯ กันชน รุ่นนี้เปลี่ยนใหม่ จากที่กลมโค้งมน มี2ชั้นแบบรุ่นก่อน ก็ เป็น แบบ แผ่นเหล็ก ท่อนเดียว ช่องเติมน้ำมัน ย้ายออกมาอยู่ด้าน นอก ทางขวามือ ของตัวรถ ทำให้ ไม่ต้องเปิดประโปรงหน้า เวลาเติมน้ำมัน แบบรุ่นๆก่อน มือจับเปิดประตู เปลี่ยนเป็นแบบกลไก แทนแบบกดปุ่ม มีอหมุนภายในมี พลาสติกหุ้ม



Beetle ปี 1969
ปรับปรุง เพลาหลัง จากระบบ Swing Axles (คือเพลาแบบแกว่งขึ้นลงได้) มาเป็น Double Joint Axles ทำให้ ล้อตั้งตรง กับแนวพื้น ไม่หุบ เหมือนรุ่นก่อน เมื่อยกล้อขึ้น ช่องเติมน้ำมัน มีระบบล๊อค โดยดึงห่วง จากแผงใต้หน้าปัดท์ แล้วก็ กลไกเปิดกระโปรงหน้าเปลี่ยนจาก แบบ ปุ่มดึงเป็นคันโยค ซ่อนอยู่ในช่องเก็บของ และช่องเก็บของมีระบบกุญแจ ล๊อค



Beetle ปี 1970
จุดเด่นของรุ่นนี้ก็ คือ ตรงกระโปรงปิดเครื่องยนต์หลัง ได้เจาะรูเป็นซี่ แบบครีบระบายอากาศ ทำให้ ผู้ใช้หวั่นว่า เวลาเจอฝนในเมืองไทย จะทำให้จานจ่ายชื้น มีปัญหาเวลาจอดตากฝน เพราะว่าเวลาเครื่องติด ฝนทำอะไรไม่ได้ แรงลมจากพัดลมระบายความร้อน พัดออกหมดแล้วก็ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ จาก 1500 ซีซี เป็น 1600 ซีซี ทำให้ได้แรงม้า ถึง 57 แรงม้า ไฟเลี้ยวหน้ารถ และท้ายรถขยายให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีกนิด



Beetle ปี 1971
ผลิตโฟล์คออกมา 2 แบบ คือ 1302 กับ 1302 S คือ เครื่อง 1300 และ 1600 ซีซี แต่ตรงที่ 1600 ซีซี ได้แรงม้าเพิ่ม เป็น 60 แรงม้า แล้วตรงตัวเก๋งด้านท้ายใกล้หน้าต่าง จะเจาช่องระบายอากาศ รูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว สำหรับผู้โยสาร ด้านหลัง ระบบกันสะเทือนหน้าเปลี่ยนจากระบบคานบิดอันลือเลื่องมานาน มาเป็นแบบคอลย์สปริง Mcperson Strut ทำให้หน้ารถโล่งยิ่งขึ้น ขยับถังน้ำมันให้อยู่ลึกเข้าไป ทำให้รูปทรงตัวรถอูมขึ้น เหมือนคนอ้วน เมื่อเปลี่ยนระบนี้ทำให้ วงเลี้ยว แคบเข้า



Beetle ปี 1972
17 กุมภาพันธ์ 1972 สามารถผลิตและฉลองการผลิตที่ 15,007,034 Beetle และได้เปิดตัว รุ่น 1303 แบบ Super Beetle ลักษณะของรุ่นนี้ คล้ายกับ 1302 แต่ทรงจะมนและโค้งมากกว่า และความกว้างของมิติด้านข้าง จะมากกว่า



Beetle ปี 1974
้ประกาศจะหยุดการผลิตรถรุ่น Beetle ในเยอรมัน ถึงแม้ว่าการผลิตของรถ Beetle ในต่างประเทศที่ Hanover, Emden และ Brussels สำหรับการขายแถบ Europe จะดำเนินต่อไป



Beetle ปี 1975
โรงงานในเยอรมันทำการจบการผลิตสำหรับ Beetle และสิ่งที่ทดแทนรถรุ่นนี้ ต่อไปจะเรียก 1303 convertible เข้ามาทดแทน



Beetle ปี 1978
ขยายฐานการผลิตใหม่ สำหรับ รถ Beetle ไปดำเนินต่อไปที่ โรงงานใน Mexico และ Brazil รถเหล่านี้ บางคันยังถูกส่งกลับมาขายที่ Germany ในรถปีนี้ มีการเปลี่ยนแปลง โดยเพิ่มระบบทำความร้อน ในห้องโดยสารเป็นแบบ rear heater outlets ไฟหน้าเป็นแบบ halogen headlights 1986 ที่เพิ่มระบบปัดน้ำฝนมี intermittent wipers

Beetle ปี 1988
ระบบการควบคุมการจุดระเบิด จากหน้าทองขาวธรรมดาเป็นแบบมี ระบบ Electronics Ignition .เข้ามาแทน



Beetle ปี 1990
เพิ่มมาตรฐาน alarm ลงไปในระบบเตือนของเครื่องยนต์ หากมีอะไรผิดปกติ


คร่าวๆก้อ แค่นี้ก่อนครับ

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Jaguar E-Type กลับมาเกิดใหม่พร้อมยัดไส้เทคโนโลยีทันสมัย กลับมาเกิดใหม่พร้อมยัดไส้เทคโนโลยีทันสมัย

Jaguar E-Type กลับมาเกิดใหม่พร้อมยัดไส้เทคโนโลยีทันสมัย กลับมาเกิดใหม่พร้อมยัดไส้เทคโนโลยีทันสมัย

เราจะพาไปทำความรู้จักกับผู้ผลิตรถยนต์ที่นำ รถยนต์รุ่นดังในอดีตมาฟื้นฟูพร้อมยัดไส้
เทคโนโลยีใหม่ให้กลับมาโลดแล่นบนถนนได้อีกครั้ง ซึ่งตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือ Singer
ที่นำ Porsche 911 รุ่นระบายความร้อนด้วยอากาศมาทำตามกระบวนกล่าวนั่นเอง
สำหรับคราวนี้เป็นของผู้ผลิตนาม Eagle จากประเทศอังกฤษที่นำ Jaguar E-Type
มาทำเป็น Eagle Spyder GT
eagle-launches-spyder-gt-official-14
ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดของ Eagle Spyder GT นั้น เรามาทำความรู้จักคร่าวๆ กับ
Jaguar E-Type กันก่อน ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในวันที่ 15 มีนาคม 1961 ในงาน
Geneva Motor Show มาพร้อมกับเอกลักษณ์ ไฟหน้าทรงกลมเบ้าลึกพร้อม
ฝาปิดอีกชั้น, หน้ายาว และท่อไอเสียปลายคู่ออกตรงกลาง หน้าตาของมันถือว่า
สวยงาม จน Enzo Ferrari เองยังเคยให้คำจำกัดความ Jaguar E-Type ว่า
เป็นรถยนต์ที่สวยที่สุดในโลก
jag-e-type-hist-web-0473
Jaguar E-Type มากับโครงสร้างแบบ Monocoque, ช่วงล่างหลังอิสระ และ ดิสเบรก 4 ล้อ
ถือว่าล้ำหน้ามากในยุคสมัยของมัน ส่วนขุมพลังเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบแถวเรียง
ความจุ 3.8 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 269 แรงม้า (PS) ทำงานร่วมกับเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
ส่งกำลังผ่านล้อคู่หลังให้อัตราเร่ง 0-96 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 6.9 วินาที
ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 241 กิโลเมตร/ชั่วโมง
jag-e-type-hist-web-0460
นั่นทำให้ Jaguar E-Type รถยนต์ Production ที่ทำความเร็วได้สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น
ต่อมาในปี 1964 ทางผู้ผลิตได้นำเครื่องยนต์ XK ขนาด 4.2 ลิตรมาติดตั้งใน Jaguar E-Type
แทนซึ่งให้กำลังสูงสุดเท่าเดิม แต่มีแรงบิดสูงขึ้น นอกจากนี้ยังปรับปรุงเกียร์ธรรมดาเป็น
แบบ Synchromesh และมีการเพิ่มตัวถัง 2+2 ในปี 1965 อีกด้วย
jag-e-type-hist-web-0472
ต่อมาในปี 1967 มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ Series 1 ครึ่ง ออกจำหน่ายเพียงปีเดียว
ถึงปี 1968 โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของไฟหน้าพร้อมกับปรับปรุงเบรก ซึ่งทั้งหมดนี้
ถูกนำไปใช้ต่อใน Series 2 อีกด้วย อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงใน Series 2 และ
Series 3 ถูกวิจารณ์ว่าลดความงามของ Jaguar E-Type ลงไปเพราะกระจังหน้า และ
กันชนหน้าใหญ่กว่าเดิม ทั้งยังมีซุ้มล้อที่กว้างขึ้น
jag-e-type-hist-web-0464
Jaguar E-Type ทำการตลาดถึงปี 1975 ซึ่งตลอดระยะเวลา 14 ปีที่มันอยู่ในตลาด ได้กวาด
ยอดขายไปมากกว่า 70,000 คัน สำหรับราคาเริ่มต้นของ Jaguar E-Type ตอนเปิดตัวอยู่ที่
2,097 ปอนด์ (ราว 92,000 บาท) สำหรับตัวถัง Roadster และ 2,196 ปอนด์ (ราว 96,000 บาท)
สำหรับตัวถัง Coupe
jag-e-type-hist-web-0470
กลับมาที่พระเอกของเรื่องอย่าง Eagle Spyder GT กันต่อซึ่ง Eagle ไม่ได้สร้างรถยนต์
ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่นำ Jaguar E-Type มาบูรณะใหม่แทนโดยมีกระบวนการต่างๆ
ที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4,000 ชั่วโมงการทำงาน ในการผลิต Eagle Spyder GT แต่ละคัน
ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูนี้รวมไปถึงการดัดแปลงอย่าง ใช้ตัวถังอลูมิเนียมแบบ Monocoque
และยังมีการใช้วัสดุแมกนีเซียมในหลายส่วนด้วย
eagle-launches-spyder-gt-official-15 eagle-launches-spyder-gt-official-18
Eagle Spyder GT มีน้ำหนักเพียง 1,029 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้
เครื่องยนต์ และเกียร์ที่ทำจากวัสดุอลูมิเนียม ส่วนขุมพลังเป็นเครื่องยนต์เบนซิน Jaguar
XK 6 สูบแถวเรียง ความจุ 4.7 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 334 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด
47.0 กก-ม. (461 นิวตันเมตร) ทำงานร่วมกับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ส่งกำลังผ่านล้อคู่หลัง
eagle-launches-spyder-gt-official-10 eagle-launches-spyder-gt-official-5
อัตราเร่ง 0-96 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถทำได้ต่ำกว่า 5 วินาที ช่วงล่างนั้นได้รับการ
ปรับปรุงใหม่หมดเช่นกัน โดยที่ Eagle Spyder GT มากับล้อสั่งทำ ขนาด 16 นิ้ว,
ช่วงล่างแบบ Double Wishbone ในด้านหน้า, Lower Wishboneในด้านหลัง,
โช๊คอัพปรับระดับได้จาก Ohlins, เหล็กกันโคลง และดิสเบรกจาก AP Racing ทั้ง 4 ล้อ
Untitled 2 Untitled 3
ค่าตัวของ Eagle Spyder GT เริ่มต้นที่ 695,000 ปอนด์ (ราว 30,669,000 บาท) และยังไม่
รวมภาษี ซึ่งถึงราคาจะไม่ใช่น้อยแต่ก็ยังถูกกว่า Jaguar XKSS หรือ E-Type ตัวแข่งน้ำหนักเบา
ที่ Jaguar กลับมาสร้างใหม่ก่อนหน้านี้ และออกจำหน่ายในราคา 1,000,000 ปอนด์
(ราว 44,128,000 บาท)
eagle-launches-spyder-gt-official-19

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561

วิธีบริหารแก๊งค้ายา ขึ้นสู่ระดับโลก Drug Lord

เศรษฐศาสตร์ยาเสพติด: วิธีบริหารแก๊งค้ายา

  • Narconomics: How to Run a Drug Cartel

    เศรษฐศาสตร์ยาเสพติด: วิธีบริหารแก๊งค้ายา

    "เฮ้ย แกอ่านบ้าอะไรวะเนี่ย!?" อาจจะเป็นประโยคแรกที่ได้ยิน ถ้ามีใครมาเห็นตอนกำลังกางหนังสือเล่มนี้อยู่ ก่อนที่จะรู้สึกอะเมซิ่งกับเนื้อหาของมัน ขอแนะนำกันให้รู้จักกับหนังสือที่ทำลายทุกกฏเกณฑ์ของหนังสือเศรษฐศาสตร์และฮาวทู



    Tom Wainwright นั่งรถบุกป่าฝ่าดงไปถึงฟาร์มโคคาที่โคลอมเบีย เยือนหัวหน้าแก๊งอาชญากรในคุกที่เอลซัลวาดอร์ หรือแม้กระทั่งเดินทางไปคุยกับอดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก ฯลฯ เขาเสี่ยงชีวิตมากมายในฐานะนักเขียน บรรณาธิการและผู้สื่อข่าวเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคนได้อ่านกัน

    หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่วิชาค้ายา 101 แต่เป็นการรู้ทันอาชญากร กลไกขององค์กร และวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าเนื้อหาจะดูหนักหน่วงแต่อ่านเพลินและย่อยง่ายเหลือเชื่อ ทอมอธิบายด้วยภาษาที่คนไม่รู้เศรษฐศาสตร์แม้แต่น้อยก็สามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ (อย่างเราเป็นต้น) แต่ก็ไม่ได้ตื้นเขินจนไม่ได้เนื้อหาอะไรเลย เพราะเขาอ้างอิงงานวิจัยใหญ่ ๆ มาให้ข้อมูลและสามารถไปหาตัวเต็มอ่านได้หากสนใจ นับว่าเป็นหนังสือที่เซอร์ไพรส์มาก โดยเฉพาะคนที่มีความสนใจในอาชญากร(?) จะยิ่งเอนจอยมากขึ้นถ้ารู้จักพื้นเพของแก๊งค้ายามาบ้าง ปาโบล เอสโกบาร์ เอล ชาโป แก๊งฮัวเรซ แก๊งซินาลัว คุ้นบ้างไหม? แต่ถึงไม่คุ้นก็ไม่เป็นไร เพราะนี่ไม่ใช่หนังสือชีวประวัติคนพวกนั้น

    คุณจะได้เรียนรู้ว่าแก๊งค้ายาไม่ได้ใช้แต่ความรุนแรงหรืออำนาจ แต่พวกเขายังเป็น CEO ขององค์กรตัวเองด้วย ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าแก๊งพวกนี้จะบริหารงานเหมือนแมคโดนัลด์หรือ CP

    สำหรับคนที่ขี้เกียจอ่านเองก็ไม่เป็นไร เพราะเราเองก็อยากเล่าไม่แพ้กัน ระหว่างอ่านเราได้จดโน้ตและสรุปประเด็นน่าสนใจไว้หลายหน้า A4 และมันคงจะดีไม่น้อยถ้าได้แบ่งปันกับคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเราขอสรุปลงด้านล่างนี้เป็นบท ๆ เลยก็แล้วกัน สำหรับใครที่อยากอ่านเองก็ข้ามไปได้เลย!



    *คำเตือน : บทความนี้อาจยาวกว่าชีวิตใครบางคนในแก๊งค้ายา*



    บทที่ 1 : ชาวไร่โคคาและพ่อครัว

    แก๊งคายาก็ไม่ต่างอะไรจาก McDonald หรือ Walmart ทุกอย่างคือธุรกิจและมันก็มีอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply)
    ตามปกติแล้ว ถ้าสินค้าราคาแพงขึ้น ความต้องการก็จะน้อยลง และถ้าสินค้าราคาถูก ความต้องการก็จะมากขึ้น แต่ในกรณีของการค้ายามันไม่เป็นแบบนั้นเพราะผู้ค้ายาทำหน้าที่ผูกขาดการค้า (monopsony) ไม่ต่างอะไรจาก Walmart เลย
    แล้วมันสำคัญยังไง?
    เมื่อรัฐบาลเห็นปัญหายาเสพติดและตั้งใจจะกำจัดมันโดยการลด supply จึงดำเนินการกำจัดต้นตอของปัญหา นั่นก็คือ "ฟาร์มโคคา" ไม่ว่าจะโดยการให้กองทหารบุกเข้าทำลายฟาร์มหรือใช้เครื่องบินพ่นสเปรย์ฆ่าผลผลิตเหล่านั้นก็ตามแต่ รัฐคิดว่าถ้าลดผลผลิตแล้วราคาในตลาดก็จะสูงขึ้นตามกฎของอุปสงค์และอุปทาน ส่งผลให้ประชากรซื้อยาพวกนี้ลดลง...หวานหมู
    แต่ปัญหาคือราคามันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามใจหวัง
    อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้ค้ายามีกันไม่มากและในพื้นที่หนึ่งก็มีไม่กี่ราย ดังนั้นแก๊งค้ายาเลยเป็นเหมือน Walmart ที่ผูกขาดราคาสินค้าได้ตามต้องการ ผลก็คือราคามันแทบจะเท่าเดิมเลย โอเค อาจจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อยแต่ไม่ถึงกับกระทบผลลัพธ์โดยรวม เรียกได้ว่าขนหน้าแข้งไม่กระดิก คนที่โดนผลของเรื่องนี้เข้าไปเต็ม ๆ กลับไม่ใช่พวกหัวแถวแต่เป็นปลายแถว ชาวไร่โคคาต่างหากที่ต้องแบกรับความเสียหายนี้ แล้วเขาจะไปเรียกร้องอะไรจากคนข้างบนได้ล่ะ ทำได้แต่ก้มหน้าปลูกกันต่อไปเพื่อชดเชยส่วนที่เสียหาย
    สรุปแล้วมันได้ผล...แต่ผิดเป้าหมาย
    ถ้าจะเยียวยาปัญหานี้ เราต้องเพิ่มผู้ค้าโคเคนเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่เพราะยาเสพติดมันผิดกฎหมาย ทางที่ดีคือเราต้องหางานอื่นให้ชาวไร่พวกนี้หันไปปลูกอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนพอ ๆ กัน เลิกทำมันซะโคคา
    ขั้นตอนต่อมาคือ "พ่อครัว" พอฟาร์มโคคาถูกถอนรากถอนโคน ราคาพุ่งขึ้น (นิดหน่อย) พวกที่ทำหน้าที่หยิบนู่นปรุงนี้ต่อจากใบโคคาเพื่อแปรรูปเป็นโคเคนก็ต้องมีหัวคิดกันหน่อย ลองเปลี่ยนสารเคมีที่ใช้ซิ ไหนลองวิธีนั้นหน่อยเป็นไง (ในหนังสืออธิบายขั้นตอนทำโคเคนเป็นขั้นเป็นตอนเลยแต่เราจะไม่บอกหรอก) ผลคือ...เฮ้ย ใช้ใบโคคาเท่าเดิมแต่ได้ผงโคเคนเพิ่มขึ้น! แม้ supply จะน้อยลง แต่ขั้นตอนการผลิตเราดีขึ้น ประหยัดไปอีกสิทีนี้
    อีกประเด็นคือโคเคนมีราคาตลาดสูงอยู่แล้ว ยิ่งไปไกลยิ่งสูง รายงานว่าจากแหล่งผลิตไปสู่มือผู้ซื้อ ราคาพุ่งขึ้นถึง 30,000% เลยทีเดียว (โอ้พระเจ้า) ดังนั้นการเพิ่มต้นทุนไม่ได้ส่งผลกระทบกับราคาตลาดที่สูงของมันเลย สมมติโคเคนราคา 700,000 แล้วราคามันเพิ่มขึ้นเป็น 700,550 ก็แทบไม่รู้สึกอะไรเลยใช่ไหมล่ะ


    บทที่ 2 : แข่งขัน VS สมานฉันท์



    บทนี้ทอมเปรียบเทียบเม็กซิโกกับเอลซัลวาดอร์เพื่อให้เห็นความแตกต่างของการทำธุรกิจค้ายาของสองพื้นที่

    เม็กซิโก มีอัตราการตายสูงและมีสงครามระหว่างแก๊งบ่อยมากเพราะไม่สามารถแบ่งพื้นที่ทำกินได้ ต้องแย่งชายแดนที่จำกัดในการลักลอบขนโคเคนไปขาย แก๊งไหนซื้อตัวเจ้าหน้าที่ไว้แล้วก็ผ่านไปสบายหน่อย แก๊งไหนไม่ได้ซื้อก็ลำบากกันไป เราจะมาพูดถึงแก๊งฮัวเรซและแก๊งซินาลัวกัน

    เม็กซิโกมีตำรวจท้องถิ่นในแต่ละรัฐเป็นของตัวเองซึ่งตำรวจท้องถิ่นพวกนี้ถูกแก๊งฮัวเรซซื้อไปแล้ว แต่โชคยังดีที่เม็กซิโกมีตำรวจของรัฐแยกอีกที ตำรวจเหล่านี้ไม่ใช่คนท้องถิ่นแต่ถูกเรียกมาจากหลายแห่ง เป็นกลุ่มที่มีอาวุธดีกว่า ถูกเทรนมาดีกว่าและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในรัฐบาลของคาลเดรอน "เอล ชาโป" หัวหน้าแก๊งซินาลัวเลยหันไปซื้อตำรวจกลุ่มนี้แทน แต่ละฝ่ายต่างมีพวกของตัวเอง ดังนั้นเลยเกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อแย่งพื้นที่ ผู้คนล้มตายไปกว่า 60,000 คน จนความรุนแรงทั้งหลายเริ่มลดลงเมื่อเอล ชาโปนำแก๊งซินาลัวเข้าควบคุมพื้นที่ได้สมใจ

    ...Meanwhile in El Salvador...

    ในขณะที่ เอลซัลวาดอร์ มีแก๊ง Mara Salvatrucha และ Barrio18 ทั้งสองฝ่ายตกลงสงบศึกและแบ่งพื้นที่ทำกินกัน ผลที่ตามมาก็คือไม่เกิดสงคราม ไม่มีคนล้มตาย ทำมาหากินกันสบาย ๆ ไม่ต้องเหนื่อยสู้กับใคร



    อีกปัญหาคือเรื่องความจงรักภักดีต่อแก๊ง ในเม็กซิโก ใครจ่ายมากก็ไปอยู่ฝ่ายนั้น แต่แก๊ง Salvatrucha สมาชิกทุกคนสักตั้งแต่หัวจรดเท้า โอกาสเปลี่ยนฝ่ายเลยยากเพราะเห็นแค่ตัวก็รู้แล้วว่าอยู่แก๊งไหน ดังนั้นทุกคนเลยทำงานให้ฝ่ายเดียว ความวุ่นวายเลยมีน้อย

    ทีนี้ทางเศรษฐศาสตร์ว่าไง

    ถ้าเราอยากลดความรุนแรงในเม็กซิโก แทนที่จะมีชายแดนเดียว มีเส้นทางเดียวให้ลักลอบ เกิดการแก่งแย่งพื้นที่และส่งผลให้เกิดสงครามตามมา ทางทฤษฎีเลยบอกให้เปิดชายแดนมากขึ้นสิ จะได้ลดการแข่งขันลง 

    ...แต่มันทำได้ที่ไหนเล่า!


    บทที่ 3 : Human Resources 

    ปัญหาเรื่องคน ๆ ก็ไม่เว้น แก๊งค้ายามักจะมี 2 ปัญหาหลัก

    1. เปลี่ยนลูกจ้างบ่อย ไม่ใช่เพราะว่าลูกจ้างขอลาออกหรืออะไร มีอยู่ 2 ทางในสายงานนี้ ถ้าไม่ตายก็ติดคุก
    2. ต้องรักษาความสัมพันธ์กับลูกจ้าง เมื่อคุณเข้ามาทำงานกับแก๊ง ไม่มีใครที่ไหนให้เซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรหรอก เราไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะอยู่กับเราถึงเมื่อไร ลูกจ้างจะหักหลังเราไหม ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อใจกันจึงสำคัญเป็นอย่างมาก

    จะหาคนทำงานสายงานนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะปิดป้ายประกาศหรือโพสต์ลงอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้ แถมงานนี้เข้าแล้วออกไม่ได้ มิหนำซ้ำลูกจ้างยังถูกเอาเปรียบเพราะลำดับชั้นของการทำงานอีก ดังนั้นสถานที่ดีที่สุดในการหาคนมาทำงานก็คือ...คุก 

    มีเรื่องเล่าสุดแสนบังเอิญของชายสองคนที่มาเจอกันในคุก เรียกว่าโชคชะตาฟ้าลิขิตก็ว่าได้ หนึ่งในนั้นคือ Carlos Lehder (ซ้าย) และ George Jung (ขวา) คาร์ลอสถูกจับเพราะลักลอบขนรถข้ามประเทศ เขาถูกจับมาอยู่ในห้องขังเดียวกับจอร์จ ผู้มีประสบการณ์ในการลักลอบขนกัญชาจากโคลอมเบียเข้าอเมริกาโดยเครื่องบินเล็ก ทั้งคู่เลยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันพร้อมทั้งวางแผนธุรกิจหลังออกจากคุกไว้ล่วงหน้า 

    พอทั้งคู่ออกจากคุก คาร์ลอสก็เลยพาจอร์จไปแนะนำกับ ปาโบล เอสโกบาร์ เจ้าพ่อโคเคนในโคลอมเบียทั้งสองจึงตกลงขนโคเคนเข้าอเมริกาโดยเครื่องบินเล็กของจอร์จ เหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นใบเบิกทางครั้งแรกของการลักลอบโคเคนเข้าอเมริกาและพลิกโฉมธุรกิจการค้ายาครั้งใหญ่


    อย่างที่บอกว่าความสัมพันธ์กับลูกจ้างมีความสำคัญมากเพราะหาคนมาแทนยากมาก ดังนั้นหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะฆ่าสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ยังไง "การเจรจา" ก็มาก่อน ยกตัวอย่างเช่น โคเคนหายระหว่างขนส่ง ต้องหาสาเหตุก่อนว่าโกงจริงหรือแค่ซวย (โดนจับได้ สินค้าหาย หรืออะไรก็ว่าไป) ถ้าเป็นกรณีแรกก็ต้องลงไม้ลงมือจัดการด้วยความรุนแรง แต่ถ้าซวยก็อาจจะให้อภัยกันได้ ในเคสนี้ ปาโบล เอสโกบาร์ถึงกับมี "ประกันโคเคน" กรณีที่สินค้าไปไม่ถึงมือผู้ซื้อจะมีการชดเชยค่าเสียหายให้ ปาโบลสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าและทำให้ทุกคนอยากลงทุนกับเขา

    นอกจากนี้ พวกแก๊งค้ายายังชอบทำงานกับคนชาติเดียวกันหรือคนในพื้นที่มากกว่า เพราะถ้าไปดีลงานกับคนนอก โอกาสถูกชักดาบก็จะมาก แต่ถ้าเป็นคนในพื้นที่ อย่างน้อยก็มีครอบครัวที่อยู่ในประเทศเป็นตัวประกันหรือข้อแลกเปลี่ยน


    เรื่องความยุ่งยากพวกนี้แก้ไขได้ด้วยระบบเรือนจำที่ดี เพราะคุกรวบรวมคนผิดกฎหมายทุกแขนงมาไว้ในที่เดียวกัน เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยสำหรับอาชญากรเลยก็ว่าได้ โอกาสที่จะกลับไปทำอาชีพผิดกฎหมายก็มีมากเพราะไม่มีทางเลือกสำหรับคนติดคุกมากนัก แต่ถ้ามีการปรับปรุงระบบเรือนจำที่เอื้ออำนวย ให้ความรู้และโอกาสสร้างอาชีพ เมื่อคนเหล่านี้ออกจากคุกไป โอกาสกลับไปใช้ชีวิตอาชญากรก็น้อยลง


    บทที่ 4 : การประชาสัมพันธ์

    ทำไมแก๊งค้ายาต้องมาใส่ใจเรื่องประชาสัมพันธ์ด้วย ทั้งที่ทำเรื่องผิดกฎหมายก็ควรจะอยู่เงียบ ๆ ไม่ใช่เหรอ? แต่ความจริงแล้ว พวกเขาได้ประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์ไปไม่น้อยเลย

    เป้าหมายหลัก ๆ ที่แก๊งค้ายาต้องการสื่อสารด้วย ได้แก่

    1. ประชาชน  

    แก๊งซินาลัวเคยแปะป้ายประกาศให้ประชาชนรับรู้ เบลมว่าแก๊ง Zetas เป็นคนฆ่าบุคคลเหล่านี้ แก๊งของเขาไม่เคยฆ่าผู้หญิงหรือเด็ก ไม่มีการข่มขู่หรือลักพาตัว ทุกอย่างเป็นผลงานของ La Linea (กลุ่มตำรวจที่ทำงานกับแก๊งค้ายา) ที่รับจ้างฆ่าเพื่อเงิน สุดท้ายลงชื่อว่า "เอล ชาโป" หัวหน้าแก๊งซินาลัว


    พวกนี้พยายามปิดข่าว แปะป้ายประกาศ ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าแก๊ง A ดีกว่าแก๊ง B เป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนบอกข้อมูลกับตำรวจและชี้ให้เห็นว่าตำรวจนี่แหละที่คอรัปชั่น ประชาชนก็เลยไม่หันไปพึ่งพาตำรวจ

    2. รัฐบาล

    แก๊งค้ายาลงไปควบคุมสื่อเพื่อไม่ให้มีข่าวเข่นฆ่ารั่วไหลออกไป ไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะส่งกองทัพเข้ามาในเมืองทำให้ดำเนินกิจการอย่างยากลำบาก พวกนี้เลยทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะข่มขู่ ลักพาตัว หรือแม้กระทั่งฆ่านักข่าวที่ไม่ทำตาม พอสื่ออย่างโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ถูกควบคุม หลายคนจึงหันไปใช้สื่ออื่นที่ปกปิดตัวตนได้ เช่น ใช้โซเชียลมีเดียหรือบล็อกในการนำเสนอข่าวโดยไม่ระบุชื่อผู้เขียน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายมีคนถูกเชือดไก่ให้ลิงดูอย่างสยดสยองแล้วนำศพไปแขวนไว้พร้อมแป้นพิมพ์เพื่อเป็นการขู่คนอื่น ๆ ที่ยังทำอยู่

    นอกจากนี้แก๊งค้ายายังมีบรรษัทภิบาลหรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งหมายถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ทำไมเอล ชาโปให้ทิปพนักงานเสิร์ฟถึง 1,000 ดอลลาร์ ทำไมต้องแจกเบี้ยเลี้ยงแก่คนชราในสังคม ทำไมปาโบล เอสโกบาร์ถึงสร้างลานสเก็ต สนามฟุตบอล สวนสาธารณะและสวนสนุกในชุมชนหรือให้ของขวัญคริสต์มาสเด็ก ๆ ด้วย ก็เพื่อเพิ่มคุณค่าและภาพลักษณ์ของแก๊งไงล่ะ ประชาชนถึงกับยกย่องปาโบลว่าเป็น "โรบินฮู้ด" แถมตอนเอล ชาโปถูกจับ แทนที่ทุกคนจะดีใจ ประชาชนกลับออกมาเดินโห่ร้องเชิดชูเอล ชาโปว่าเป็นที่รักของประชาชนมากกว่ารัฐบาลเสียอีก ไหงงั้น!

    ที่เป็นแบบนี้เพราะชุมชนเหล่านี้ขาดการบริการที่ดีจากรัฐ ดังนั้นเมื่อรัฐไม่สนใจและมีคนใจดีมามอบสิ่งอำนวยความสะดวกให้ พวกเขาก็ยินดีจะรับมันไว้ วิธีแก้ปัญหาคือรัฐต้องลงมาให้สิ่งอำนวยความสะดวกแก่ชุมชนเพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่หันไปพึ่งอำนาจของคนเหล่านี้


    ที่อยู่ของปาโบล เอสโกบาร์ที่ Hacienda Nápoles ตอนนี้กลายเป็นสวนสนุกและสวนสัตว์

    บทที่ 5 : Offshoring 


    Offshoring คือ การเคลื่อนย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่มีอัตราค่าแรงต่ำกว่า เหมือนรองเท้า Made in China ยาเสพติดก็ Made in Hondulas หรือ Made in Guatemala ได้เช่นกัน แก๊งค้ายาก็เรียนรู้เหมือนนักธุรกิจ อเมริกากลางเป็นสถานที่ที่ค่าแรงต่ำและอยู่ตรงกลางระหว่างโคลอมเบียและเม็กซิโก แทนที่จะผลิตยาในประเทศตัวเอง ย้ายฐานไปผลิตที่ฮอนดูรัสหรือกัวเตมาลาเพื่อลดต้นทุนไม่ดีกว่าเหรอ 

    คำถามคือมีประเทศตั้งเยอะแยะในอเมริกากลาง ทำไมถึงเลือกแค่ฮอนดูรัสหรือกัวเตมาลา การจะประกอบธุรกิจอะไรก็ต้องดูว่าประเทศนั้นมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ความสะดวกของการดำเนินการ งานเอกสาร กฎหมาย ฯลฯ ธุรกิจยาเสพติดก็เหมือนกัน กัวเตมาลาและฮอนดูรัสเป็นประเทศที่กฎหมายและกำลังทหารอ่อนแอกว่าประเทศอื่นในละแวกเดียวกัน ดังนั้นพวกแก๊งทั้งหลายเลยเอาประโยชน์ตรงนี้มาใช้ในการลงหลักปักฐาน


    บทที่ 6 : แฟรนไชส์


    แก๊งอาชญากรก็มีแฟรนไชส์ไม่ต่างจากร้านอาหารเด่นดังข้างบ้านคุณ ยกตัวอย่างแก๊ง Zetas ที่ขยายสาขาไปถึงต่างประเทศ โดยการส่งคนไปเป็นแมวมองหาอาชญากรท้องถิ่นที่ดูมีแวว จากนั้นก็ชักชวนมาร่วมเป็นพันธมิตรและช่วยร่วมรบยามที่มีปัญหากับอริ หากคุณสมัครภายในวันนี้ รับไปเลยอาวุธและการเทรนนิ่งจากโค้ชชั้นนำของแก๊ง Zetas! (จริงๆ) 

    นอกจาก McDonald จะขายแบรนด์แล้ว ชื่อแก๊งก็มีส่วนช่วยเช่นกัน สมาชิกสามารถอ้างชื่อแก๊งเพื่อเพิ่มความน่าเกรงขามได้เมื่อได้เข้าร่วม เวลาแมคโดนัลด์โฆษณาอะไร แฟรนไชส์ที่เปิดก็ได้รับประโยชน์นั้นไปด้วย เวลาแก๊งสร้างวีรกรรมไว้ สมาชิกก็ได้หน้าไปเช่นกัน ยกตัวอย่างร้านไอติมในเม็กซิโกร้านหนึ่ง คนขายได้รับข้อความขู่กรรโชกเรียกเงิน ถ้าไม่นำเงินมาให้ คนในครอบครัวจะตกอยู่ในอันตราย ถ้าคุณอ่านข้อความบนกระดาษแผ่นนี้ อาจจะคิดว่านี่เป็นการอำกันขำ ๆ หรือเปล่า แต่เมื่อมันลงท้ายว่า "จากแก๊ง Zetas" ที่เคยมีข่าวฆ่าตัดหัวคนแล้วไปโยนในผับ คุณจะไม่คิดว่านี่มันเป็นเรื่องล้อเล่นและคุณมีโอกาสจะตอบรับคำร้องมากกว่า เพราะฉะนั้นชื่อเสียงของแบรนด์ก็มีผลต่อการทำธุรกิจไม่น้อยเลย 

    ผลเสียของแฟรนไชส์ก็มีเหมือนกัน สมมติมีแมคโดนัลด์ในละแวกเดียวกัน 3 ร้าน แน่นอนว่าจะเกิดการแข่งขันกัน แต่จะปรับกลยุทธการขายยังไงในเมื่อมีมาตรฐานเดียวกันทั้งราคาและวัตถุดิบ เพราะมันมาจากแบรนด์เดียวกัน คุณก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งถอดใจและพร่ำบ่นว่านี่มันคราวซวยของฉัน ในขณะที่เจ้าของแบรนด์ไม่ได้สนใจว่าแฟรนไชส์จะขายได้ไม่ได้ เพราะเมื่อมีสาขาเพิ่ม กำไรโดยรวมก็เพิ่ม แฮปปี้ดีนี่นา 


    แต่ในขณะที่เจ้าของแบรนด์นั่งนับเงินอยู่นั้น ลูกค้าดันเจอแมลงสาบในเบอร์เกอร์ อี๋! (กรณีสมมติ) ความผิดพลาดของสาขาย่อยก็ส่งผลต่อชื่อเสียงของแบรนด์ได้เหมือนกัน แล้วถ้าคนในแก๊งดันไปฆ่าตำรวจอเมริกาโดยพลการทั้งที่กฎของแก๊งระบุไว้ว่าห้ามฆ่าคนอเมริกันล่ะ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือรัฐบาลอเมริกาตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังลงพื้นที่ไปจับและฆ่าหัวหน้าแก๊ง Zetas ในที่สุด 

    นี่คือผลลัพธ์ของแฟรนไชส์ที่มีผลต่อแบรนด์และลูกน้องที่มีผลต่อหัวหน้า


    บทที่ 7 : การค้นคว้าวิจัย

    ในประเทศที่เข้าถึงยาเสพติดยากอย่างนิวซีแลนด์ ประเทศที่มีประชากรน้อยและห่างไกล ไหนจะไม่มีเที่ยวบินบินตรงจากโคลอมเบียหรือเม็กซิโกอีก ไม่มีใครสนใจไปเปิดตลาดยาเสพติดที่นั่นหรอก  

    ชาวกีวี่จึงต้องหันมาพึ่งพาตัวเอง พื้นที่ของนิวซีแลนด์สามารถปลูกกัญชาได้เอง ประชากร 1 ใน 7 เคยสูบกัญชามาก่อน เมื่อนำเข้ายากนัก พวกเขาก็เริ่มผลิตเอง โดยสารเสพติดที่นิยมคือ "ยาบ้า" แต่ไม่นานนัก ยาบ้าก็ถูกกวาดล้าง Matt Bowden (ปัจจุบันเป็นนักดนตรีร็อกภายใต้ชื่อ Starboy) จึงก้าวเข้าสู่วงการ

    Matt Bowden
    หลังจากมีคนรู้จักเสียชีวิตจากการเสพสารเสพติดเกินขนาด แมตต์หันมาคิดค้นยาสูตรใหม่โดยใช้ Benzylpiperazine หรือเรียกว่า BZP ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมายและค้าขายกันได้ทั่วไป ผู้คนจึงมักนำไปใช้ในปาร์ตี้ ภายหลังสารดังกล่าวก็โดนแบนจากตลาดตามหลังยาบ้าไป แต่งานวิจัยไม่หยุดเพียงเท่านั้น ต่อมามี TFMPP, DMAA และอีกหลากหลายรูปแบบออกมาวางจำหน่าย หลังจากนั้นสารดังกล่าวก็ถูกแบนตามไปติด ๆ เราเรียกสารเสพติดเหล่านี้ว่า "Legal High" หรือยาเสพติดถูกกฎหมาย แต่หารู้ไม่ว่ามันอันตรายเสียยิ่งกว่ายาเสพติดดั้งเดิมอีก เพราะนอกจากจะไม่รู้ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้างแล้ว ยังไม่รู้ว่าโดสยามากน้อยแค่ไหนด้วย รัฐบาลดำเนินการแบนยาเหล่านี้ไปทีละตัว ๆ แต่ไม่ทันไรก็มีตัวใหม่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แถมยังต้องผลิตอะไรที่ไม่เคยมีในตลาดมาก่อน ผลผลิตก็มีแต่จะแปลกและอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ มียาตัวใหม่-โดนแบน-มียาอีกตัวขึ้นมาอีก-โดนแบน  เป็นการวิ่งไล่จับที่ไม่มีวันจบสิ้น ด้วยกระบวนการที่เชื่องช้าของการตรวจสอบ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะทำยังไง คนพวกนี้ก็นำหน้าอยู่ก่อนเสมอ


    บทที่ 8 : E-commerce

    หลังจากมีอินเทอร์เน็ต ธุรกิจการค้ายาก็เปลี่ยนไป ภายหลังมีการใช้ dark web หรือตลาดมืดออนไลน์ โดยผ่านเว็บเบราเซอร์ที่ตรวจสอบประวัติการค้นหาไม่ได้ เช่น TOR และจ่ายเงินแบบปกปิดตัวตนผ่านบริการอย่าง BitCoin โดยดำเนินการไม่ต่างอะไรจาก ebay หรือเว็บขายของออนไลน์อื่นเลยแม้แต่น้อย มีทั้งเรตติ้งและคอมเม้นท์จากผู้ซื้อว่าบริการเจ้านี้เป็นที่พึงพอใจหรือไม่ ผู้ขายบางคนถึงกับมีประกันของสูญหายหากส่งไปไม่ถึงมือด้วย ดังนั้นการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จึงง่ายกว่ามาก ไม่ต้องออกไปรับความเสี่ยงโดยตรง 

     
    ต่อมาพูดถึง Betweenness centrality พบว่าการกำจัดหัวหน้าใหญ่ของแก๊งค้ายาหรือพวกรายย่อยที่ขายตามตรอกซอกซอยไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ดีเท่าที่ควร มันเป็นเรื่องของคอนเน็กชั่น ใครเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ค้าและผู้ขายมากที่สุด นั่นก็คือคนที่มี Betweenness centrality สูง ดังนั้นการกำจัดคนกลางเหล่านี้จึงมีผลมากกว่า


    อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือการศึกษาความสัมพันธ์ของเด็กในไฮสคูลซึ่งใช้เป็นโมเดลของการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสนับสนุนความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว (single partner) อาจจะดูดี ถ้าไม่ไปมั่วสุมก็ไม่ติดโรค แต่จากโมเดลจะเห็นว่าไม่จริง เพราะอยู่สุดสายก็ผ่านคนที่มีความสัมพันธ์มามาก ต่อมาถ้าเราลองไปป้องกันกลุ่มเสี่ยงดูล่ะ เช่น ผู้ที่ค้าบริการทางเพศ พวกค้ายา เด็กวัยรุ่น ก็อาจจะไม่ได้ผลมากนัก เพราะคนกลางที่มีความสัมพันธ์มากที่สุดต่างหากที่ควรป้องกัน

    บทที่ 9 : ขยายกิจการ

    Walt Disney เริ่มต้นจากสวนสนุก จากนั้นก็มีรายการโทรทัศน์หรือขายของที่เกี่ยวกับดิสนีย์เพิ่มขึ้นมา เมื่อธุรกิจค้ายาอย่างเดียวไม่เพียงพอ บางกลุ่มก็เริ่มขยับขยายกิจการ ขายชีส ส่งออกผักผลไม้ หรือลักลอบคนเข้าประเทศ พวกนี้เปลี่ยนจากแค่คนค้ายาไปเป็น TCOs (Transnational Crime Organisations) แทน กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การกระจายธุรกิจแนวราบ (Horizontal Diversification) คือ การหาทางเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เดิมมาดึงดูดลูกค้ารายใหม่ และในขณะนั้นเอง แก๊งค้ายาก็เริ่มหันมาสนใจ "เฮโรอีน"

    เฮโรอีนสามารถผลิตได้เองในเม็กซิโก ทั้งยังไม่ต้องส่งเงินกลับไปให้โคลอมเบียอีก แล้วทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่สนใจล่ะ สาเหตุที่ทำให้พวกเขาลังเลมี 2 ประเด็น

    1. เหตุผลด้านอุปสงค์ 

    เฮโรอีนมีชื่อเสียงไม่ดีในอเมริกา แม้จะนิยมใช้กันมาก แต่ก็มีข่าวเซเลบคนดังตายเพราะใช้ยาเกินขนาดบ่อยครั้ง เนื่องจากเฮโรอีนมีช่วงระหว่างโดสที่ทำให้เมา (effective dose) กับโดสที่ทำให้ตาย (lethal dose) แคบมาก ดังนั้นถ้าได้รับยาเกินขนาดแค่นิดเดียวก็มีโอกาสตายได้ เฮโรอีนจึงเป็นสารเสพติดที่อันตรายมาก


    จากภาพแสดงอัตราส่วนระหว่าง effective dose ต่อ lethal dose

    เฮโรอีน 6 : 1
    แอลกอฮอล์ 10 : 1
    โคเคน 15 : 1
    LSD 1000 : 1
    กัญชา >1000 : 1

    2. เหตุผลด้านอุปทาน 

    แม้จะสามารถปลูกเองได้ก็จริง แต่สถานที่ปลูกในเม็กซิโกมีหน่วยลาดตระเวนอยู่ประจำ การทำธุรกิจเลยไม่ง่ายอย่างที่คิด

    มีเคสตัวอย่างของผู้หญิงสูงวัยที่ติดเฮโรอีนเพราะบาดเจ็บที่สะโพก เธอไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้วได้รับยาแก้ปวด OxyContin ที่เป็นสารสังเคราะห์โอปิออยด์ เมื่อได้รับเข้าไปมาก ๆ ก็สามารถทำให้ติดยาได้ หลังจากหมอจ่ายยาให้เป็นประจำ เธอก็เริ่มใช้ยาเกินขนาดและติดยาในที่สุด โชคไม่ดีเมื่อเธอกลับไปโรงพยาบาลกลับพบว่าหมอคนนั้นได้ออกไปแล้ว หมอคนใหม่ลดขนาดยาแก้ปวดลง เธอจึงต้องหันไปซื้อยาเองในตลาดมืด ปรากฎว่า OxyContin มีราคาแพงมาก เธอเลยได้รับคำแนะนำให้สัมผัสกับยาใหม่ที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่า นั่นก็คือเฮโรอีน

    เดิมเฮโรอีนเป็นยาของวัยรุ่นจน ๆ แต่หลังจากเกิดปรากฎการณ์ยาแก้ปวด คนที่หันมาใช้โคเคนเริ่มกลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้นและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมีอายุ จึงอาจพูดได้ว่ายาแก้ปวดชนิดนี้เป็นยาเปิดทางสู่เฮโรอีน 

    เฮโรอีนเริ่มบูมขึ้นมา ประจวบเหมาะกับที่คาลเดรอนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเม็กซิโกพอดี คาลเดรอนประกาศสงครามกับแก๊งค้ายา กองกำลังทั้งหลายจึงถูกโยกย้ายไปประจำการที่ฮัวเรซ คนลาดตระเวนรอบนอกก็ลดลง พวกค้ายาเลยหันมาใช้โอกาสนี้ผลิตเฮโรอีน


    บทที่ 10 : สูงสุดสู่สามัญ


    ปัจจุบันหลายรัฐในอเมริกาเริ่มหันมาทำให้กัญชาถูกกฎหมาย เริ่มต้นที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด หลังจากนั้นธุรกิจกัญชาก็เจริญรุ่งเรือง เริ่มสร้างพื้นที่ปลูกกัญชาอย่างเป็นจริงเป็นจัง คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ช็อกโกแลตกัญชา คุ้กกี้กัญชา น้ำอัดลมกัญชา สารพัดจะสรรหามาทำ 

    ข้อดีก็คือลดอำนาจแก๊งค้ายา สามารถคุมคุณภาพได้ ตรวจสอบได้ว่าระดับยาเท่าไร คุณสมบัติเป็นยังไง แถมได้คุณภาพกัญชาที่ดีกว่าปลูกตามแปลงหลบ ๆ ซ่อน ๆ สายตาตำรวจ ทั้งยังสามารถเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ที่แก๊งค้ายาเข้าถึงไม่ได้ เช่น พวกนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจและอยากลิ้มลองประสบการณ์ใหม่ (และพบว่าส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน) นอกจากนี้รัฐยังได้ภาษีจากการขายและลดรายจ่ายในการจับกุมผู้ค้าอีกด้วย

    ข้อเสียคือรัฐที่กัญชาถูกกฎหมายกลับกลายเป็นแหล่งส่งออกกัญชาอย่างผิดกฎหมายเอง มีการลักลอบกัญชาไปยังรัฐอื่นที่กัญชาไม่ได้รับอนุญาตมากขึ้น และถึงแม้ว่ากัญชาจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง มันก็ทำลายชีวิตคนมาแล้ว ซึ่งเป็นผลของฤทธิ์ยาที่ได้รับมากเกินไป (ส่วนใหญ่เจอในรูปแบบของการกินเพราะออกฤทธิ์ช้า) ทำให้เกิดภาพหลอน มีเคสหนึ่งได้รับรายงานว่าใช้มีดแทงคอตัวเองตาย ส่วนอีกคนก็กระโจนออกจากระเบียงเสียชีวิต


    บทสรุป : ข้อผิดพลาดของการปราบปรามยาเสพติด


    1. สนใจแต่อุปทาน

    อย่างที่กล่าวไปในบทแรก การเพิ่มราคาสินค้าไม่ได้ส่งผลให้คนซื้อน้อยลง รัฐลงทุนไปมากแต่กลับได้ผลตอบแทนน้อย หากลองเปลี่ยนไปพิจารณาแง่อุปสงค์ ลดความต้องการซื้อโดยการทำแคมเปญจน์รณรงค์สุขภาพ การบำบัดผู้ติดยาเสพติดเพื่อช่วยให้ความต้องการยาเสพติดลดลง เมื่อคนไม่ซื้อยาเสพติดแล้ว ผู้ผลิตก็จะได้รับผลกระทบเอง 

    2. จัดสรรงบประมาณผิดพลาด

    รัฐบาลมักใช้งบไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพ แต่ถามว่ามันคุ้มกันไหมที่ลงทุนไปเยอะขนาดนั้นแทนที่จะเกลี่ยงบไปให้การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ให้การศึกษาและสร้างอาชีพในเรือนจำ ซึ่งตามการวิจัยแล้วสามารถลดการใช้ยาเสพติดได้ถึง 10 เท่า หากรัฐบาลลงทุนให้กับส่วนนี้ การปราบปรามยาเสพติดอาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    3. ทำระดับโลกในระดับชาติ

    หากลองแยกประเทศตามสายงาน จะสามารถแยกได้ ดังนี้ 

    1. ผลิต - โคลอมเบีย
    2. ขนส่ง - เม็กซิโก
    3. บริโภค - ยุโรป อเมริกา

    โคลอมเบียมองปัญหาในแง่ผู้ผลิต อเมริกามองปัญหาในแง่ผู้บริโภค ประเทศที่เป็นผู้บริโภคก็อยากตัดการผลิต ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตหรือขนส่งอาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้นเพราะผลลัพธ์ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศตัวเองแต่ไปปรากฎที่ประเทศผู้บริโภค แล้วจะเสียเวลานองเลือดกันไปทำไม ถ้าประเทศตัวเองไม่เห็นผลมากมายอะไรนัก

    ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องระดับโลกแต่ทุกประเทศมักใส่ใจแต่ปัญหาของตน เมื่อกำจัดปัญหาในประเทศได้ ทุกคนก็เฉลิมฉลอง แต่ปัญหายาเสพติดไม่ได้หมดไปจากโลก มันกลับไปผุดขึ้นที่ประเทศอื่นแทน เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "squeezing the balloon" หรือ "cockroach effect" เมื่อครั้งที่กำจัดยาเสพติดในประเทศเปรู ยาเสพติดก็ไปผุดขึ้นที่โคลอมเบียแทน เมื่อโคลอมเบียปราบปรามได้สำเร็จ แก๊งเหล่านี้ก็ย้ายกลับไปที่เปรู

    ต่อมาเมื่อการตัดผลผลิตไม่ได้ผล ประเทศผู้บริโภคก็เริ่มผลิตเอง รัฐจึงหันมาทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมายแทน

    4. สับสนระหว่าง "การห้าม" และ "การควบคุม"

    การทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่าเห็นดีเห็นงามว่ายาเสพติดพวกนั้นมันดี แต่เพราะว่ามันไม่ดีต่างหาก เราจึงต้องเข้าไปควบคุมและวิธีการควบคุมก็คือการทำให้มันถูกกฎหมาย ทำให้มันหลุดจากมือของพวกมาเฟีย ยกตัวอย่างเช่นในเดนเวอร์ที่ได้กล่าวไป 

    แล้วยาอื่นนอกจากกัญชาล่ะ?

    บางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ หรือสวิตเซอร์แลนด์ สามารถให้แพทย์สั่งเฮโรอีนเพื่อการบำบัดได้อย่างถูกกฎหมายในระดับที่กำหนด ผลลัพธ์คือในสวิตเซอร์แลนด์ ผู้ที่เสพติดเฮโรอีนหายจากอาการได้ถึง 90% และนั่นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี


    แม้จะยังมีข้อโต้แย้งและถกเถียงกันอยู่มากในการแก้ปัญหายาเสพติด แต่หวังว่าในอนาคต เราจะได้เห็นการแก้ปัญหายาเสพติดในระยะยาวและตรงเป้าหมายมากขึ้น