ประวัติรถ Ferrari ENZO
FERRARI ENZO
รถสูตรหนึ่งนอกสนามแข่งค่ายเฟอร์รารี่นำซูปเปอร์คาร์รุ่นล่าสุดของตน คือ เฟอร์รารี่ เอนโซ (Ferrari Enzo) เปิดตัวต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ในมหกรรมยานยนต์นานาชาติ รายการปารีสมอเตอร์โชว์ประจำปี 2002 ซึ่งกำหนดเปิดให้ประชาชนทั่วไปชมจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม
เฟอร์รารี่รายงานข่าวความคืบหน้าของเฟอร์รารี่ เอนโซ ซูเปอร์คาร์ที่ ถอดแบบมาจากรถแข่งฟอร์มูล่า วัน (F-1) มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ค่าย พีนินฟาริน่าพัฒนารุ่นคอนเซ็ปต์คาร์ออกมา และนำไปเปิดตัวครั้งแรกใน นิทรรศการ "Artedinamica" ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contempory Art:MOT) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ขณะอยู่ในคราบคอนเซ็ปต์คาร์ เฟอร์รารี่เรียกซูเปอร์คาร์ รุ่นนี้ว่า "เอฟ 140 (Ferrari F140)" หรือบางครั้งก็เรียกเป็นชื่อรหัสว่า เอฟเอ็กซ์ (FX)
สื่อมวลชนสรุปวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เฟอร์รารี่นำเอนโซขณะเป็นคอนเซ็ปต์คาร์ไปเปิดตัวทื่ญี่ปุ่น แทนที่จะเปิดตัวในมหกรรม ยานยนต์ในยุโรปเหมือนรถรุ่นอื่นๆ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญของเฟอร์รารี่ และเอนโซเป็นผลงานการออกแบบของ เคน โอคุยามะ ยอดดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ที่ทำงานอยู่กับพีนินฟาริน่าหลายปี และเพิ่งลาออกจากค่ายดีไซน์สปอร์ตคาร์เลื่องชื่อแห่งนี้ เมื่อปีที่แล้ว
สำหรับ ชื่อเป็นทางการ คือ "เอนโซ" เฟอร์รารี่ตั้งเป็นเกียรติแก่เอนโซ เฟอร์รารี่ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 1988
ถอดแบบ เอฟ-1
โฉมภายนอก และองค์ประกอบภายในของเอนโซ พัฒนามาจากรถแข่ง ฟอร์มูล่า วัน หรือรถสูตรหนึ่งเป็นหลัก โดยทีมวิศวกรที่ รับผิดชอบโครงการ ผลิตเอนโซ ได้ไปขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทีมเฟอร์รารี่ ในสังเวียน ฟอร์มูล่า วัน ชิงแชมป์ รวมทั้ง มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ยอดนักแข่งเจ้าของ แชมป์โลก หลายสมัย และนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิต
โฉมส่วนหน้าของเอนโซเริ่มจากการออกแบบกระโปรง รวมกับปีกข้าง สปอยเลอร์ และช่องดักลม ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า ส่วนของ "จมูก" สะท้อนโฉม ของรถแข่ง เฟอร์รารี่ที่โลดแล่นล่าชัย อยู่ในสนามแข่งได้อย่างชัดเจน
สเตฟาโน คาร์มัสซี่ ผู้เชี่ยวชาญอากาศพลศาสตร์ของเฟอร์รารี่ ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวให้เอนโซกล่าวว่า จมูกสไตล์รถสูตรหนึ่งของ เอนโซ ซึ่งรวมทั้งรูปแบบของกระโปรงหน้าที่เป็นการออกแบบ ที่นอกจากต้องการเน้นให้คล้ายกับรถสูตรหนึ่งของเฟอร์รารี่แล้ว ยังเป็น ดีไซน์ที่ช่วยด้านอากาศพลศาสตร์ด้วย โดยเป็นส่วนรับอากาศให้ผ่านเข้าสู่ใต้ท้องรถ เข้าไปปรับศูนย์กลางแรงกดอากาศ พลศาสตร์ไล่สู่ด้านหลัง
ขณะที่การออกแบบใต้ท้องรถส่วนหลัง ก็ช่วยเพิ่มแรงกดให้แก่รถด้วย ส่วนดีไซน์ด้านข้างที่ประยุกต์จากรถสูตรหนึ่ง ได้แก่ช่องระบายความร้อน เบรกขนาดใหญ่ ทั้งบริเวณล้อหน้าและหลัง รูปแบบกระจกบังลมกว้าง แนวเส้น ตัดลงสู่ช่องระบายอากาศล้อหน้า เป็นดีไซน์ที่สื่อมวลชนในยุโรป ระบุว่า คล้ายรูปแบบของรถแข่ง 250 GT ที่เฟอร์รารี่ผลิตออกมาเมื่อปี 1959 ขณะที่ส่วนหลังโดดเด่นด้วยไฟคู่รูปแบบคล้ายไฟมอเตอร์ไซค์ 4 ชุด จัดวางไว้มุมข้างส่วนบนสุดของปีกหลังด้านละ 2 ชุด เป็นดีไซน์คล้ายกับ เฟอร์รารี่ รอสซ่า
โดยภาพรวมแล้ว โฉมภายนอกของเอนโซ เป็นดีไซน์ผสมผสานรูปแบบของเฟอร์รารี่ในอดีต 3 รุ่น ประกอบด้วย 288 GTO (เฟอร์รารี่ผลิตออกมาเมื่อปี 1984) F40 (1987) และ F50 (1995) เหยี่ยวข่าวอเมริกันค่ายหนึ่งให้ความเห็นว่า โฉมของเอนโซ โดดเด่น ตามสไตล์ของรถค่ายนี้ แต่ไม่ใช่รุ่นที่งดงามที่สุดของเฟอร์รารี่ ส่วนห้องโดยสารที่ใช้ความรู้จากเอฟ-1 มาประยุกต์ออกแบบ ได้แก่รูปแบบที่กะทัดรัด คล้ายค็อกพิตของเอฟ-1
ฝีเท้าจัดสุดของม้าป่า
ตัวแทนเฟอร์รารี่เปิดเผยว่า เอนโซ ซึ่งเป็นซูปเปอร์คาร์วางเครื่องกลาง และขับเคลื่อนล้อหลัง เป็นโปรดักชั่นคาร์ของเฟอร์รารี่ ที่มีความเร็วสูงสุด ตัวเลขระดับความเร็วเต็มสมรรถนะของเอนโซ อยู่ที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ขุมพลังของเอนโซ เป็นเครื่องวี 12 (V12) ฝาและเสื้อสูบผลิตจาก อัลลอยน้ำหนักเบา ลูกสูบทำมุม 65 องศา 4 วาล์วต่อสูบ หรือ 48 วาล์ว ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ ขนาด 6.0 ลิตร ความจุสุทธิ 5988 ซี.ซี. กำลังสูงสุดอยู่ที่ 660 แรงม้า ที่ 7800 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 484.6 ฟุต-ปอนด์ ที่ 5600 รอบต่อนาที ใช้ระบบส่งกำลังชนิดกึ่งอัตโนมัติ 6 สปีด ชนิดเดียวกับระบบของรถสูตรหนึ่ง โดยมีชิฟต์สำหรับปรับเปลี่ยน เกียร์ออกแบบไว้ที่พวงมาลัย ช่วยให้การใช้งานสะดวกสบายกว่าเกียร์ชนิดอื่น
สำหรับตัวเลขที่สื่อมวลชนแห่งออโต้วีคจากสหรัฐ ได้จาการทดสอบเอนโซมีดังนี้ ความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราเร่งจากสตาร์ตถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำได้ในเวลาเพียง 3.65 วินาทีและเร่งถึง 124 ไมล์ต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 9.5 วินาที โดยเวลาดังกล่าว รถประเภทซีดานโดยทั่วไป สามารถเร่งได้เพียง 60 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น
ส่วนการโลดลิ่วหนึ่งรอบสนามฟิออราโนในอิตาลี ซึ่งเป็นสนามที่เหยี่ยวข่าวอเมริกันใช้ทดสอบเป็นเวลา 4 รอบสนามนั้น เอนโซพิชิตได้ 1 นาที 25 วินาที เร็วกว่าเฟอร์รารี่ เอฟ 50 ถึง 5 วินาที่เต็ม ขณะที่ช้ากว่ารถสูตรหนึ่งของเฟอร์รารี่ รุ่นที่ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ใช้แข่งขันประจำฤดูกาลนี้ประมาณ 30 วินาที
เครื่องยนต์รุ่นใหม่ล่าสุด
เอนโซ ไม่แตกต่างจากเฟอร์รารี่ทุกรุ่นที่ผ่านมา นั่นก็คือ มีเครื่องยนต์ เป็นองค์ประกอบเด่นที่สุด หัวใจของเอนโซ รหัสเอฟ 140 เป็นเครื่องที่ เฟอร์รารี่พัฒนาจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของตน สามารถเรียกแรงบิดได้สูง 383 ปอนด์-ฟุต ตั้งแต่รอบเครื่องอยู่ที่ 3000 รอบต่อนาที ถึงรอบสูงสุด 8200 รอบต่อนาที
องค์ประกอบสำคัญของเครื่องยนต์ที่ออกแบบใหม่ทั้งหมดของเฟอร์รารี่รุ่นนี้ ประกอบด้วยแคมชาฟท์ขับด้วยโซ่ ก้านสูบ ไทเทเนียม ไอดี และไทมิ่งลูกเบี้ยว ชนิดผันแปร และเป็นเครื่องมีมิติขนาดเล็ก มีน้ำหนักน้อยกว่า 500 ปอนด์ เครื่องยนต์ติดตั้งไว้กับ ซับเฟรมอัลลอย ส่วนหลังเป็นที่จัดวางเกียร์บล็อกซ์และถังน้ำมันหล่อลื่น สำหรับระบบหล่อลื่นแบบแห้ง หล่อลื่นเกียร์ และระบบล็อก อัตโนมัติ (เช่น ระบบล็อกเฟืองท้าย) องค์ประกอบต่างๆ สามารถมองเห็นได้ถนัดเมื่อเปิดฝากระโปรงดูในห้องเครื่อง
สมรรถนะสุดประทับใจ
ออโต้วีคแนะนำการใช้กลไกต่างๆ บนพวงมาลัยจากประสบการณ์ช่วงสั้นๆที่ได้สัมผัสเอนโซไว้ว่า ปุ่มต่างๆบนด้านซ้ายใช้สำหรับปรับระบบที่จะปรากฏข้อมูลบนจอข้างแผงหน้าปัด ขณะที่ชุดขวามือใช้ปรับระบบ ASR หรือระบบปรับการทำงานของกันสะเทือนและระบบส่งกำลัง และอีกปุ่มที่ ระบุ "Race" สำหรับใช้ในเวลาต้องการความเร็วสูงส่วนปุ่มลูกศร อยู่ทาง ด้านซ้าย และด้านขวาก้านพวงมาลัย เป็นปุ่มไฟเลี้ยว และปุ่มสีเงินสำหรับ เกียร์ถอย เหยี่ยวข่าวอเมริกันกล่าวว่าการได้สัมผัสเอนโซ ถือเป็นประสบการณ์ ที่ตื่นเต้นและเลือดสูบฉีดแรง
เนื่องจากเอนโซมีความแรง และว่องไวอย่างน่าทึ่ง ขณะที่การทรงตัว หนักแน่น และมั่นคง ทั้งจังหวะเข้าโค้ง และจังหวะใช้ความเร็วสูง ในทาง ตรง และดิสก์เบรก ขนาด ใหญ่ ของ Brembro ผลิตจากคาร์บอน ก็ทำงาน หยุดความดุดันของเอนโซได้เฉียบคม สมรรถนะของเอนโซดังกล่าว เหยี่ยว ข่าวอเมริกันยกให้เป็นเครดิตของ ระบบกันสะเทือน ที่ทรง ประสิทธิภาพ ยางบริดจสโตนผลิตเป็นพิเศษเฉพาะรถรุ่นนี้ และหลักอากาศพลศาสตร์ ของรถ โดยการพัฒนาหลักอากาศพลศาสตร์ ส่งผลให้เอนโซมีค่า สัมประสิทธิ์ แรงต้านทานกระแสลม หรือค่าซีดี (Cd) เหลือเพียง 0.36
ส่วนอุปกรณ์ปรับหลักอากาศพลศาสตร์ของเอนโซ ทำงานตรงกันข้าม กับชุดของรถโดยทั่วไป แทนที่จะรับแรงกดจากอากาศ ลงสู่ช่วงล่างใน จังหวะรถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดชุดของเอนโซซึ่งประกอบด้วย สปอยเลอร์ หลัง และสปอยเลอร์ปรับอัตโนมัติ อยู่ใต้ท้องรถใกล้กับล้อหน้าจะทำงาน ควบคุมการทรงตัวของรถขณะเข้าโค้ง และจะปรับเป็นกลไกฉุดพลังต่ำ เมื่อ รถวิ่งด้วยความเร็ว มากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
สเตฟาโน คาร์มัสซี่ ให้เหตุผลว่า การออกแบบให้สปอยเลอร์ทำหน้าที่ รับแรงกดอากาศสู่ช่วงล่างของรถ ในจังหวะที่วิ่งด้วย ความเร็วสูง จำเป็นต้องปรับระดับความหนืดแข็งของสปริง และหากปรับระดับสปริง จะทำให้การวิ่งในระดับความเร็วปรกติเสีย ความสมบูรณ์ อีกทั้งยังจะทำให้การนั่งโดยสารขาดความนุ่มนวลไป
ผลิตตามใบสั่งเท่านั้น
ขนาดและสีของเบาะนั่งมีให้เลือก4ระดับ ขณะที่สีบอดี้ มีให้เลือกเพียง 2 สี คือแดง และเหลือง และคาดว่า เฟอร์รารี่ อาจจะเพิ่มสีดำเข้ามาในอนาคต ส่วนการติดตั้งแป้นบังคับ เฟอร์รารี่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 16 ระดับ เพื่อให้ครอบคลุม ขนาดร่างกายของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ขั้นตอนการประกอบ เอนโซ ใช้พนักงานผู้ชำนาญงาน ประกอบด้วยมือทั้งหมด โดย ใช้เวลาประกอบ 4 สัปดาห์ต่อหนึ่งคัน การประกอบเอนโซใช้ เวลานานกว่าการผลิตเฟอร์รารี่ 360 โมเดน่า 575 เอ็ม มาราเนโล และ 456 จีทีเอ โดยโมเดน่า ใช้เวลาผลิตเพียง 4 วัน ขณะที่สองรุ่นหลังใช้เวลาผลิตเพียง 6 วัน
สนนราคาค่าตัว
สำหรับตัวเลขราคาค่าตัวของม้าป่าฝีเท้าจัดจ้านที่สุดรุ่นนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 670,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28.5 ล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น